ตัณหา และอุปาทาน ?
โดย PREZZO
PREZZO
#1
ตัณหา คือ อะไร ?
ตัณหา แปลว่า ความอยาก อันได้แก่ ความอยากในอารมณ์ ๖ อย่าง

๑. รูปตัณหา ความอยากเห็นรูป

๒. สัททตัณหา ความอยากฟังเสียง

๓. คันธตัณหา ความอยากดมกลิ่น

๔. รสตัณหา ความอยากลิ้มรส

๕. โผฏฐัพพตัณหา ความอยากสัมผัสกับสิ่งสัมผัส

๖. ธัมมตัณหา ความอยากได้ธัมมารมณ์

ตัณหาทั้ง ๖ อย่างนี้ เมื่อว่าโดยอาการ มี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

๑. กามตัณหา คือ ความอยากในกาม ได้แก่ อารมณ์ที่น่าใคร่และน่าติดใจ

๒. ภวตัณหา คือ ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ โดยประกอบไปด้วยภวทิฏฐิ หรือสัสสตทิฏฐิ อันได้แก่ ความอยากของคนที่เป็นสัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าอารมณ์ หรือ คนและโลกนี้เป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืนเสมอไป

๓. วิภวตัณหา คือ ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ โดยประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ที่เห็นว่า อารมณ์ของตน และโลกเป็นของสูญหมด

อีกนัยหนึ่ง กามตัณหา คือ ความอยากในกามธาตุ หรือกามภพ ภวตัณหา คือ ความอยากในรูป ธาตุ อรูปธาตุ หรือ รูปภพ, อรูปภพ วิภวตัณหา คือ ความอยากโดยปฏิเสธภพทั้ง ๓

อีกนัยหนึ่ง ซึ่งกล่าวโดยเกจิวาทะ ได้แก่ กามตัณหา ความอยากในกามธาตุ หรือ กามภพ, รูปตัณหา ความอยากในรูปธาตุ หรือรูปภพ อรูปตัณหา ความอยากในอรูปธาตุ หรือ อรูปภพ และความปฏิเสธในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ เรียกว่า นิโรธตัณหา (ความอยากที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ)

ตัณหาเมื่อว่าโดยพิสดาร ตัณหามีถึง ๑๐๘ ได้แก่ ตัณหา ๖ อย่างนั้น (โดยอารมณ์) เมื่อว่าโดยอาการมี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา จึงเป็น ๑๘ ( ๖ x ๓ = ๑๘) เป็นตัณหาภายใน ๑๘ ตัณหาภายนอก ๑๘ จึงเป็น ๓๖ (๑๘ x ๒ = ๓๖) เป็นอดีต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ อนาคต ๓๖ จึงเป็นตัณหา ๑๐๘ (๓๖ x ๓ = ๑๐๘)

ตัณหาว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งมีลักษณะเป็นเหตุแห่งทุกข์ มีหน้าที่ทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์ มีความไม่รู้จักอิ่มเป็นผล มีเวทนาเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ถ้าไม่มีเวทนา ตัณหาก็มีไม่ได้ เช่น สุขเวทนา ทำให้เกิดตัณหา เพราะผู้มีสุขจึงต้องการสุขยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นเดียวกัน ทุกขเวทนาทำให้เกิดตัณหา เพราะผู้มีทุกข์จึงต้องการแสวงสุข บำบัดทุกข์ อุเบกขาเป็นความสงบภายใน คนจึงเข้าใจว่าเป็นสุข จึงต้องการสุขยิ่งๆ ขึ้นไป และตัณหานี้เองก็เป็นปัจจัยต่อให้อุปาทาน


อุปาทาน คือ อะไร
อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น ๔ อย่าง คือ

๑. กามุปาทานํ ความยึดมั่นถือมั่น ในกามคุณอารมณ์ มีรูปารมณ์ เป็นต้น

๒. ทิฏฐุปาทานํ ความยึดมั่นถือมั่น ในความเห็นผิด เช่น เห็นว่า ทำบุญแล้วไม่มีผล ทำบาปแล้วไม่มีผล เป็นต้น

๓. สีลัพพัตตุปาทานํ ความยึดมั่นถือมั่น ข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เช่น กินแบบสุนัข ปัสสาวะแบบโค

๔. อัตตวานุปาทานํ ความยึดมั่นถือมั่น อัตตวาทะ ยึดว่ามีอัตตาในขันธ์ ๕

อุปาทานว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกและทิฏฐิเจตสิก อุปาทานโดยสังเขป มี ๒ อย่าง คือ ยึดมั่นถือมั่นเพราะโลภะ ๑ ยึดมั่นถือมั่นเพราะทิฏฐิ ๑

อุปาทาน มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ มีหน้าที่ไม่ยอมปล่อยอารมณ์ มีความมักมากและเห็นผิดเป็นผล มีตัณหาเป็นเหตุใกล้ให้เกิด


เพราะตัณหานี้เอง สัตว์โลกทั้งหลายจึงได้อุปาทานครอบครอง เมื่ออยากจึงยึดถ้าไม่อยากก็ไม่ยึด เมื่อหิวจึงกิน ถ้าไม่หิวก็ไม่กิน ตัณหาและอุปาทานเป็นพวก โลภะเหมือนกัน แต่ต่างกันคือ ตัณหาเป็นเหตุ อุปาทานเป็นผล ตัณหาเป็นความอยาก ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่ได้มาหรือยังมาไม่ถึง เป็นอนาคตอยู่ เช่น อยากมีบุตรสักคน เป็นอนาคตอยู่ แต่เมื่อไปตรวจแล้ว พบว่าท้อง อนาคตหายแล้ว เป็นอุปาทานว่าฉันท้อง อุปาทานจึงเป็นการยึดอารมณ์เมื่ออารมณ์นั้นมาปรากฏแล้ว

ท่านเปรียบตัณหาว่าเหมือนอาการของขโมยที่เอื้อมมือไปควานหาของในที่มืด อุปาทานเหมือนอาการของขโมยที่เอามือจับของแล้วไม่ยอมปล่อย หรือ ความอยากอย่างอ่อน จัดเป็นตัณหา ความอยากอย่างแรงจัดเป็นกามุปาทาน ตัณหาตรงข้ามกับความปรารถนาน้อย อุปาทานตรงข้ามกับความสันโดษ และอุปาทานเป็นปัจจัยให้แก่ภพ
noinoi5
#2
แต่เราเป็นคน....ตัณหาย่อมบังเกิด....และอุปทานก็ตามมา...

เราจะทำยังไง...กับตัณหา....ตัดมันทิ้งรึก็ไม่หมด.....

ขอบคุณคุณprezzo มากนะคะ...ที่เอาความหมายดีๆมาฝาก

อ่านแล้วก็ให้รีบปลง...และคิดตามว่าเออมันจริงแหะ...ตัณหาเกิดได้ทุกอย่าง
pepsi5510
#3
ขอบคุณ คุณ PREZZO ที่นําสิ่งดีๆมานําเสนอครับ.
TEDDY07
#4
ขอบตุณมากๆจ๊ะ :D
xtrastrong
#5
ขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆครับ
โอมเชื่อว่า ถ้าคนเรามีสติอยู่ตลอดเวลา
สิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่มีอะไรมาทำเราได้ครับ

แต่เมื่อคนเราขาดสติ ตัณหา จะครอบงำเรา
due
#6
ก็เหมือนกับความรักนั้นแหละ:D
รู้ว่าเจ็บ แต่ก็อยากจะรัก

ไม่มีเกิดก็ไม่มีตาย
ไม่อยากตายก็อย่ามาเกิด

ไม่อยากเจ็บ ก็อย่ารักไงคะ:D

ขอบคุณน้องป๊อปสำหรับบทความธรรมะดีๆจ้า
อนุโมทนา สาธุค่ะ _/\_
ดูกระทู้ทั้งหมดในชุมชน จาก  Downtown ดูกระทู้ในหมวด ดูกระทู้ในหมวดย่อย
กระทู้แนะนำจากการคัดเลือกอัตโนมัติ
1
2
3