ธรรมะ สำหรับผู้แสวงหาแก่นธรรมที่เป็นที่สุดแห่งทุกข์
โดย hut2211
hut2211
#1
บุรุษผู้แสวงหาแก่นไม้

จาก พระไตรปิฎกออนไลน



  • กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ.
    เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น.เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วย ลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น.
    เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญ อันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะ และความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ(หรือมีคนรู้จักน้อย) มีศักดาน้อย.
    เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์
  • เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยเสก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น.
    บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา
  • ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น.


  • กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ.
    เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น.เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น.
    เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น.
    เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม. เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
  • เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือกไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น.
    บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา
  • ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น.


  • กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ.
    เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและ ความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ.
    เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น ีจิตหมุนไปผิดแล้ว.
    เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
  • เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น.
    บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา
  • ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอาเปลือกแห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น.


  • กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ.
    เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น.เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะเพราะความถึงพร้อมแห่งศีล นั้นเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วย ความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ.
    เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมแล้วด้วยญาณทัสสนะนั้น. เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่.
    เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
  • เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น.
    บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา
  • ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้น


  • กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ.
    เขาบวชอย่างนี้แล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ.เขามีความยินดีด้วยญาณทัสสนะนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ.
    ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากสมยวิมุตินั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้.
  • เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอาแก่นถือไป รู้จักว่าแก่น.
    บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น รู้จักกระพี้ รู้จักเปลือก รู้จักสะเก็ด รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอาแก่นถือไป รู้จักว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักสำเร็จประโยชน์แก่เขา
  • พรหมจรรย์นี้ จึงมิใช่มีลาภ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ สักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
  • แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด.
มหาสาโรปมสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒

ขอขอบคุณและอนุโมทนาสาธุกับบทความดี ๆ จาก http://tripitaka.wikia.com/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89
pepsi5510
#2
ขอบคุณมากครับคุณ hut2211
ดีทุกบทความบวกธรรม.... ผลบุญกุศลอันยิ่งใหญ่จงบังเกิดกับคุณ hut2211 ครับ.

โมทนา สาธุ....ครับ.
PREZZO
#3
สำหรับผู้ที่สงสัยว่า เจโตวิมุติคืออะไร ?

เจโตวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลส ด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิเช่น สมาบัติ ๘

ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา,ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผลและทำให้เจโตวิมุตติ เป็นเจโตวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป

จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์

เจโตวิมุตติ ถ้าจะเทียบกับอรรถกถาก็น่าจะเรียกว่าเป็น สมถยานิก คือ เริ่มต้นจากการเจริญสมาธิก่อนแล้วค่อยใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ในสติปัฏฐานสี่ สายพระป่าส่วนมากก็ใช้วิธีนี้ครับ

ส่วนปัญญาวิมุตติก็กลับกัน คือ เป็นวิปัสสนายานิก โดยเริ่มต้นจากการเจริญวิปัสสนาไปก่อนแล้วอาจจะมีการเข้าพักในสมาธิสลับกันไป(การเข้าพักนี้ บางท่านก็ปล่อยให้จิตเข้าพักเอง บางท่านก็ฝึกสมาธิเล็กๆน้อยๆเป็นส่วนประกอบ) หรือบางท่านแม้ไม่เคยได้สัมผัสกับสมาธิเลย แต่ไปได้สมาธิเอาในขณะแห่งมรรคผลก็มี

แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยสมถะหรือวิปัสสนา สุดท้ายทั้งสองอย่างก็ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถถึงธรรมได้ด้วยการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว ส่วนในเรื่องของวิธีการนั้นก็แล้วแต่อุบายของแต่ละคนว่าถนัดและถูกจริตกับแบบไหน

เมื่อเจริญสมาธิจึงละราคะได้ การละราคะนี้เรียกว่า เจโตวิมุติ
เมื่อเจริญวิปัสสนาจึงละอวิชชาได้ การละอวิชชาได้นี้เรียกว่า ปัญญาวิมุติ
บางคนเจริญสมาธิก่อนแล้วค่อยเจริญวิปัสสนา
บางคนเจริญวิปัสสนาก่อนแล้วเจริญสมาธิ
บางคนก็ทำควบคู่กันไป
ice-ga
#4
,มีcd ธรรมะฟังง่ายๆแจกฟรี สนใจpmที่อยู่มานะคะ emsฟรี
due
#5
[SIZE="5"]โห! กระทู้นี้วิชาการล้วนๆเลย:D
เข้าใจยากนิดนึงแต่ให้ความหมายลึกซึ้งสุดๆ
ใครสนใจลองค่อยๆอ่านดูนะคะ
ขอบคุณน้องhut สำหรับบทความดีๆที่มีมาให้อยู่เสมอๆค่ะ
organ_kaviya
#6
ต้องอ่านหลายๆรอบถึงจะเข้าใจได้ลึก ค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ ที่เอามาฝากกันค่ะ
noinoi5
#7
เข้าใจยากค่ะ...อ่านแล้ว..ต้องนึกตามแต่ก็ยัง..งง..งง;)
ขอบคุณนะคะ...ต้อง print ไปอ่านใหม่...
TEDDY07
#8
ขอบคุณมากๆจ๊ะ
wnonach
#9
[SIZE="2"]ขอบคุณมากนะคะ
ดูกระทู้ทั้งหมดในชุมชน จาก  Downtown ดูกระทู้ในหมวด ดูกระทู้ในหมวดย่อย
กระทู้แนะนำจากการคัดเลือกอัตโนมัติ
1
2
3