พ่อและแม่คือผู้มีบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูกรักของเราเพราะพัฒนาการของเด็กจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับข้อมูลจากสิ่งต่างๆรอบตัว แล้วส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อจัดการให้เหมาะสมและรวดเร็ว ร่างกายจะจดจำสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมดนี้เองจะหล่อหลอมเด็ก ทำให้เขาสร้างตัวตนของเขาเองขึ้นมาค่ะ
พฤติกรรม กระบวนการรู้คิด สติปัญญา การตอบสนองต่อสถานการณ์รอบตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการบูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 ขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องประกอบด้วยคุณภาพของร่างกาย พันธุกรรม การได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม คุณภาพของสิ่งเร้า ตลอดจนประสบการณ์ในการฝึกฝนประสาทสัมผัสทั้ง 7 ของเด็ก แน่นอนว่าลำพังตัวเด็กเองไม่สามารถสร้างเสริมหรือฝึกฝนทั้งหมดนี้ด้วยตัวของเขาเองได้ คุณพ่อคุณแม่นั่นละค่ะต้องดูแล ทุ่มเทร่างกายและจิตใจเพื่อปลูกฝัง เสริมสร้าง ชี้แนะ ต่อยอด ทั้งหมดทั้งมวลนี้ให้ลูกของเรา
ข้อสำคัญ ระหว่างที่บูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 ด้านนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ตัดสินลูกจากค่าไอคิวหรือค่าคะแนนความฉลาด เพราะการที่เขามีไอคิวน้อยไม่ได้หมายความว่าเขาจะเก่งน้อยกว่าหรือประสบความสำเร็จไม่เท่าเด็กคนอื่น เด็กทุกคนมีความพิเศษเฉพาะตัว ลูกของเรามีเพียงหนึ่งเดียว ไม่เหมือนใครทั้งนั้นในโลก เราจึงต้องเป็นคนบูรณาการให้เขามีประสาทสัมผัสทั้ง 7 อย่างถูกวิธี คอยกระตุ้น ส่งเสริมระบบประสาทสัมผัสของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ควรกระตุ้นพร้อมกันทีเดียวหลายด้าน เช่น ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นหลายประเภทให้ลูกเลือกจนเล่นไม่ถูก เพราะอาจทำให้เขาเกิดภาวะสมาธิสั้นเทียม หรือออทิสติกเทียมจากการเลี้ยงดูได้ค่ะ
มาดูกันค่ะว่าเราจะพัฒนาการเด็กในช่วงวัยต่างๆได้ด้วยวิธีไหนกันบ้าง
• วัย 2-3 ปี
พัฒนาการที่ทำได้ รู้จักสีที่หลากหลาย แยกแยะสีใกล้เคียงได้แล้ว ชอบฟังเพลง ร้องเพลงได้บางเพลง เลือกกินอาหารที่ตัวเองชอบ ยืนขาเดียวได้ 2 วินาที ชอบละเลงสีด้วยนิ้วมือ เริ่มจดจำกลิ่น ระบุประเภทกลิ่นได้บางชนิด
คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริม ฝึกระบบการรับรู้ทางสายตาและการได้ยิน ด้วยการเล่านิทานที่มีภาพประกอบ ชี้ชวนให้เขาดูภาพผ่านน้ำเสียงนุ่มๆ ของคุณแม่พร้อมอ้อมกอดอบอุ่น ฝึกระบบการรับการสัมผัส ด้วยการชวนลูกเล่นดินน้ำมัน แป้งโด และทราย กลิ้งตัวบนพรมที่มีผิวสัมผัสต่างกัน เช่น หญ้า พรม ขนสัตว์ ดิน ทราย แนะนำว่าเราพ่อแม่ควรกลิ้งไปบนพื้นสัมผัสต่างๆ พร้อมกับลูกด้วยค่ะ เราจะได้รับเสียงหัวเราะสดใสหน้าตาอิ่มสุขของเราและลูกเป็นรางวัล
• วัย 3-4 ปี
พัฒนาการที่ทำได้ กระโดดขาเดียวได้นานพอควร พูดประโยคยาวๆได้ 4-5 คำ บอกรูปร่าง รูปทรง และขนาดได้ รินน้ำจากเหยือกเล็กๆ เองได้ จดจำรสชาติอาหารได้ ติดกระดุมเสื้อเองได้ เริ่มรู้จักกลิ่นมากขึ้น เช่น กลิ่นเหม็น
คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริม ฝึกระบบการรับรู้ทางสายตาและการได้ยินด้วยการเล่านิทานที่มีภาพประกอบ แต่ให้เขาต่อยอดด้วยการอ่านให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง บางทีเขาจะแต่งเติมเรื่องขึ้นเองจากเค้าโครงเรื่องเดิม เป็นการสร้างเสริมจินตนาการของลูกซึ่งพ่อแม่ปล่อยให้เขาเล่าเรื่องตามใจชอบเองนะคะ ไม่ควรไปขัดขวางว่าเนื้อเรื่องไม่ใช่แบบนี้ นอกจากนี้วัยนี้ยังมีพลังเหลือเฟือ เรากระตุ้นระบบการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของเขาได้ด้วยการเล่นซ่อนหา วิ่งไล่จับ (แล้วกอดกันไว้แน่นๆ) รวมทั้งส่งเสริมระบบการรับรู้ทางสายตาเชื่อมกับการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการสอนให้เขาติดกระดุมเสื้อเอง ผูกเชือกรองเท้าเอง ถ้าเขาติดผิด ติดกลับกัน เชือกไม่สวย หลุดลุ่ย คุณพ่อคุณแม่ก็สอนเขาใหม่ด้วยรอยยิ้มให้กำลังใจนะคะ อย่าต่อว่าให้เขาไม่อยากทำอีก
• วัย 4-5 ปี
พัฒนาการที่ทำได้ ชอบหมุนตัว แกว่งตัว ตีลังกา ร้อยลูกปัดเป็นสร้อยคอ สามารถแยกรสชาติอาหารในปากได้ มือควบคุมแรงบีบ และจับได้ดี ใส่และถอดเสื้อผ้าเองได้ เริ่มจดจำกลิ่นที่เป็นอันตราย เช่น กลิ่นควัน กลิ่นแก๊สได้ สนทนาโต้ตอบได้นานพอสมควร
คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริม วัยนี้กำลังมีพลังล้นเหลือ ชอบเรียนรู้สิ่งรอบตัวเป็นที่สุด เราฝึกระบบการรับรส การสัมผัส สายตา รับรู้กลิ่น รับรู้ข้อต่อที่กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อได้ด้วยการให้เขาช่วยหยิบจับวัตถุดิบในครัว ช่วยทำอาหารง่ายๆ พูดคุยเรื่องอาหารและรสชาติ ปิดตาชิมอาหารรสชาติต่างๆ เช่น หวาน เค็ม เปรี้ยว ขม เป็นต้น รวมถึงปลูกต้นไม้ ปิดตาทายกลิ่น เอาหนังสือวางบนศีรษะแล้วเดิน แกว่งและหมุนตัวบนชิงช้า เล่นบันไดลื่น โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยแนะนำและให้กำลังใจอยู่เคียงข้างนะคะ
• วัย 5-6 ปี
พัฒนาการที่ทำได้ จดจำและแยกแยะเสียงคนที่คุ้นเคยได้ จำกลิ่นเสื้อผ้าหรือน้ำหอมของคนในครอบครัวได้ วาดวงกลม กากบาท สี่เหลี่ยมได้ บางคนเขียนหนังสือได้ เริ่มสนใจกินอาหารหลากหลายขึ้น ทรงตัวบนฐานที่ไม่มั่นคงได้ดี เรียนรู้แยกแยะรูปทรง เนื้อสัมผัสได้อย่างละเอียด
คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริม ลูกวัยนี้เหมาะมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากออกกำลังกายกระชับกล้ามเนื้อให้ฟิตและเฟิร์มเพราะเขาจะอยากเล่นกับเราตลอดเวลา และเป็นการเล่นที่สนุกทั้งครอบครัว ก็เราสามารถเล่นกับเขาได้แบบผู้ใหญ่ตัวเล็กเลยละค่ะ กิจกรรมสนุกที่เด็กๆ ชื่นชอบ ช่วยฝึกประสาทสัมผัสการเคลื่อนไหว การทรงตัว กล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อ ตลอดจนสายตา ได้แก่การชวนกันเล่นโยนรับลูกบอล กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง ตีแบดมินตันหรือเทนนิสให้ลูกเป็นเด็กเก็บลูกบอลเขาจะสนุกมากนะคะ นอกจากนี้ เราฝึกให้ลูกเดินขึ้นลงบันไดเองได้แล้ว กระทั่งจับคู่ภาพหรือสิ่งของ เปรียบเทียบความเหมือนความต่างของเราหรือสิ่งของ มองภาพสามมิติหรือเล่นเกมส์ภาพลวงตา ทั้งหมดนี้เด็กๆจะสนุกมาก และเชื่อว่าพ่อแม่อย่างเราก็เพลิดเพลินไม่แพ้กันเลยค่ะ
ขอเน้นย้ำว่าการเล่นกับลูกทุกกิจกรรมเป็นการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 7 ซึ่งเราพ่อแม่เอาหัวใจใส่ลงไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความใกล้ชิด ความทุ่มเท เราต้องกลับไปเป็นเด็กร่วมกับลูก ไม่ใช่เล่นด้วยความรู้สึกของผู้ใหญ่ที่คิดว่า ‘เล่นง่ายๆแค่นี้ ทำไมลูกทำไม่ได้’ จนกลายเป็นเรื่องจริงจัง กดดันทั้งลูกและเราโดยไม่รู้ตัว เราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนเราอายุเท่าลูก เรารู้สึกเช่นไร ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่เราเรียนรู้ได้ใหม่ตั้งแต่วันที่เราเป็นพ่อแม่ และมีลูกเข้ามาในชีวิตค่ะ
มาทำให้ทุกกิจกรรมเป็นเรื่องสนุก เป็นเวลามีค่าของครอบครัวเรา แล้วพัฒนาการทั้ง 7 ทักษะที่เติบโตก้าวหน้างดงามจะเป็นของลูกเราค่ะ
ขอบคุณที่มาจาก
https://www.foremostomega.com/7-senses/tips/ฝึกฝน-7-สัมผัสมหัศจรรย์ให้ลูกรักแต่ละช่วงวัย-ด้วยกิจกรรมยิ่งเล่น-ยิ่งผูกพัน