เด็กๆตั้งแต่วัยแรกเกิดจนโตจะเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 โดยร่างกายเมื่อได้รับข้อมูลจากสิ่งต่างๆรอบตัว ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 ก็จะส่งข้อมูลผ่านไปยังสมอง เพื่อประมวลผลและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆที่ต้องเผชิญ เราเรียกสิ่งนี้ว่า บูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 ร่างกายจะจดจำสิ่งเหล่านี้ เพื่อสร้างเป็น ประสบการณ์ในการเรียนรู้ ประสบการณ์เหล่านี้เองที่จะหล่อหลอมเด็ก ให้เค้าสร้างตัวตนของเค้าขึ้นมา ทั้งในด้าน พฤติกรรม กระบวนการรู้คิด สติปัญญา การตอบสนองต่อสถานการณ์รอบตัว
เราสามารถเรียก ประสาทสัมผัสทั้ง 7 ว่าเป็น 7 (สัมผัส) ทักษะมหัศจรรย์ เพราะสัมผัสเหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญ ของ การเรียนรู้ของเด็กทั้งหมด ทั้งในด้านร่างกายและสมอง ให้เค้าเติบโตขึ้นไป ประสาทสัมผัสทั้ง 7 ดังกล่าว ประกอบด้วย
1. การมองเห็น เป็นการใช้สายตาตรวจจับภาพการสะท้อนแสงจากวัตถุที่มองเห็น การรับรู้ทางสายตานั้นสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การอ่าน การเขียน การนับจำนวน ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต เด็กในวัย 2-3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่รู้จักสีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น สนใจวาดรูปและดูรูปภาพ เล่นต่อบล็อกไม้ โยนรับลูกบอลไปมาเป็นพิเศษ
2. การฟัง คือความสามารถในการรับรู้เสียงผ่านการสั่นสะเทือน ในช่วง 3 ปีแรกเด็กจะฟังเสียงและเรียนรู้ที่จะพัฒนาเสียงของตัวเองตามที่ได้ยินจากพ่อแม่ ทักษะด้านนี้จะเห็นผลดีที่สุดเมื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่กับโทรทัศน์ กิจกรรมที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูกเพื่อพัฒนาทักษะด้านนี้ได้แก่ ฟังเสียงดนตรี ร้องเพลง หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง
3. การสัมผัส เด็กๆสามารถรับรู้ระบบการสัมผัสบนร่างกายผ่านมือ เท้า ผิวหนัง รวมทั้งเรียนรู้และตีความหมายของสิ่งต่างๆผ่านการสัมผัส การรับสัมผัสจะมีผลต่อความสุข ความตื่นเต้น และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสื่อสาร ตลอดจนความรู้สึกปลอดภัยของเด็กเองด้วย กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านนี้ เช่น ให้ลูกปั้นดินน้ำมัน เล่นทราย ฯลฯ เพื่อแยกความแตกต่างของผิวสัมผัสแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน
4. การรับกลิ่น เป็นความสามารถในการรับรู้โมเลกุลสารระเหยในอากาศผ่านตัวรับกลิ่นภายในจมูก ในช่วง 6 เดือนแรก พัฒนาการด้านการรับกลิ่นของเด็กจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและจะพัฒนาอย่างเต็มที่ในช่วงอายุ 3-6 ขวบ การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านนี้ช่วยสร้างความทรงจำให้เด็ก เช่น กลิ่นของผิวกายแม่ตอนกอดลูก นอกจากนี้ ยังส่งต่อความสุขให้ลูก และช่วยแยกแยะระหว่างอันตรายและปลอดภัยได้เป็นอย่างดี กิจกรรมที่พ่อแม่เสริมทักษะให้ลูกด้านนี้คือการให้ลูกปิดตาและดมกลิ่นต่างๆ เช่น ผลไม้ที่เคยทาน หรือการดมกลิ่นของดอกไม้ เป็นต้น
5. การรับรส ปกติแล้วปุ่มการรับรู้รสชาติบริเวณลิ้นของคนเราสามารถรับรู้ได้ 5 รส คือ หวาน เค็ม เปรี้ยว ขม และรสกลมกล่อม รสชาติที่เด็กๆ สามารถรับรู้ได้ก่อนรสอื่นๆ คือ รสหวาน การรับรู้รสมีผลต่อความสุขและคุณภาพชีวิต คุณพ่อคุณแม่ช่วยกระตุ้นให้ลูกได้โดยให้ทดลองชิม น้ำตาล เกลือ มะนาว และพูดคุยกันถึงรสชาติของอาหารนั้นๆ
6. การรับรู้ส่วนต่างๆของร่างกาย ผ่าน กล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อ หรือเราเรียกว่า ประสาทสัมผัสการเคลื่อนไหว ระบบนี้จะช่วยให้เด็กสามารถรับรู้ถึงตำแหน่งของส่วนต่างๆ บนร่างกายได้อัตโนมัติ ทำให้จดจำท่าทางของแขน ขา โดยไม่ต้องอาศัยการมอง และสามารถรับรู้ถึงบริเวณกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เอ็น เช่น การหลับตาปรบมือ หรือการกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง การขึ้นบันไดโดยไม่ต้องมอง เป็นต้น ประสาทสัมผัสด้านนี้สำคัญมากเพราะทำให้เด็กสามารถควบคุมและวางแผนกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น กิจกรรมที่ช่วย
เสริมสร้างพัฒนาการลูกได้ เช่น การเล่น “แซนวิช” โดยใช้หมอนนุ่มๆ หนีบลูกเอาไว้สองด้าน หรือ การฝึกให้ลูกตอกไข่ใส่ชาม
7. การทรงตัว เด็กๆจะรับรู้ตำแหน่งของศีรษะจรดเท้าผ่านแรงโน้มถ่วงของโลก หรือที่เรียกว่า การรักษาสมดุลในตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยประสานการเคลื่อนไหวของตาและศีรษะ กิจกรรมที่ดีต้องใช้การเคลื่อนไหวต่าง รวมถึงการกระโดด ปีน ป่าย โดยที่เท้าไม่อยู่ติดพื้น ระบบนี้นอกจากส่งผลต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวทรงตัวแล้ว ยังมีผลต่อความสามารถด้านภาษาของเด็กอีกด้วย
พัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-6 ขวบ จะพัฒนาเร็วมาก สมองจะพัฒนาถึง 90% จนเกือบสมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่ คูณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยนี้จึงควรรีบคว้าโอกาสทองนี้ไว้ โ กิจกรรมที่เล่นกับลูกจึงควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เค้าฝึกทักษะประสาทสัมผัสทั้ง 7
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองยุคใหม่จึงควรใส่ใจและสนับสนุนทุกการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการสมองและร่างกายอย่างเต็มที่ ให้เค้าเป็นอัจฉริยะตัวน้อย และยังเป็นการสร้างรากฐานในการเติบโตที่สมบูรณ์ตามวัย พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและอารมณ์ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
https://www.foremostomega.com/