จากสถานการณ์การปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้ (ส.ค.59) ทำให้ ปตท. ตกเป็นเป้าโจมตีของคนในโซเชียลบางกลุ่ม (อีกครั้ง) โดยมองว่า ปตท. มีส่วนสำคัญในการตั้งและปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศ และการปรับราคาพลังงานทำให้ ปตท. มีกำไรสูงขึ้น เป็นการขูดรีดประชาชน
โครงสร้างราคาน้ำมันแบ่งออกเป็น 4 ส่วนย่อย ได้แก่
1. ราคาหน้าโรงกลั่น
2. ภาษีต่างๆ
3. กองทุนน้ำมัน
4. ค่าการตลาด
โครงสร้างการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ได้แก่
ราคาหน้าโรงกลั่น เป็นราคาที่อ้างอิงจากตลาดราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ใกล้ที่สุด (ต้องคิดค่าขนส่งตามระยะจากตลาดกลางนั้นมาที่ประเทศ หากอ้างอิงตลาดที่อยู่ไกล ย่อมเสียค่าขนส่งมาก) ซึ่งในที่นี้คือตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ เมื่อสิงคโปร์มีการปรับราคา ประเทศไทยก็จะมีการอ้างอิงและปรับตามไม่เกิน 3 วันทำการ ดังนั้นราคาหน้าโรงกลั่นจึงเป็นราคาอ้างอิงที่ไม่สามารถกำหนดเองได้
ภาษีต่างๆ ในส่วนของภาษีนั้น รัฐเป็นผู้กำหนดและดูแล จะเห็นว่าประเทศไทยเสียภาษีน้ำมันค่อนข้างสูง เนื่องจากประเทศไทยจัดประเภทของน้ำมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้นภาษีจึงเป็นนโยบายของรัฐ และปตท. ไม่มีสิทธิ์กำหนด
กองทุนน้ำมัน เป็นหน้าที่ของ กบง. ในการกำหนดควบคุมการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยจะเห็นว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันบางชนิด ยังมีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันอยู่เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ เช่นน้ำมันตระกูลเอทานอล E20 และ E85 นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันยังมีหน้าที่คอยเป็นกันชนยามที่ราคาน้ำมันเกิดการผันผวน โดยกองทุนน้ำมันเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐ และ ปตท. ไม่ใช่ผู้กำหนดการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน
ค่าการตลาด เป็นส่วนเดียวในโครงสร้างราคาที่ผู้ประกอบการมีสิทธิ์กำหนด โดยค่าการตลาดนั้น จะเป็นส่วนของกำไรที่แบ่งกันระหว่างแบรนด์และเจ้าของปั๊ม โดยยังไม่ได้หักต้นทุนการดำเนินการของปั๊ม ซึ่งแม้ว่าค่าการตลาด ผู้ประกอบการมีสิทธิ์กำหนดเอง แต่ค่าการตลาดเฉลี่ยน้ำมันทุกชนิดอยู่ที่ 2 บาทเท่านั้น หมายความว่าส่วนที่ผู้ประกอบการ (หรือที่โซเชียลบางกลุ่มเข้าใจว่าคือ ปตท.) สามารถกำหนดเองได้ อยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทของน้ำมันแต่ละประเภท และใช่ว่าจะสามารถปรับราคาเท่าไหร่ก็ได้ เพราะประเทศไทยเป็นการค้าเสรี หากปรับราคาสูงเกินไป ก็มีสิทธิ์ที่แบรนด์อื่นจะขายในราคาถูกกว่าได้ ดังนั้นส่วนของค่าการตลาดจึงมีกลไกตลาดคอยควบคุมอีกชั้นหนึ่ง
ส่วนการปรับราคาน้ำมันนั้น จะใช้การดู “ค่าการตลาด” เป็นหลัก โดยเมื่อตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ มีการขยับปรับขึ้นราคาน้ำมัน ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศที่อ้างอิงกับตลาดสิงคโปร์ก็จะขยับขึ้นราคาน้ำมันตาม ทำให้ “ค่าการตลาด” ปรับตัวลดลง ก็จะมีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันให้ค่าการตลาดกลับมาเฉลี่ยที่ 2 บาท กลับกันเมื่อน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์มีการขยับลด ก็จะมีผลให้ค่าการตลาดในประเทศสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ย และส่งผลให้มีการปรับลดราคาเพื่อคงค่าการตลาดเฉลี่ยไว้
ดังนั้นหากจะสรุปว่า ปตท. เป็นผู้กำหนดราคานั้น จึงไม่เป็นความจริง เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันนั้น มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อราคาขายหน้าปั๊ม ปตท. เป็นเพียงหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีหน้าที่กำหนดเพียงค่าการตลาดเพื่อให้แบรนด์และปั๊มสามารถอยู่ได้เท่านั้น
สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ www.รู้จริงพลังงานไทย.com/การปรับขึ้นราคาน้ำมัน/
http://samtahantoptt.blogspot.com/