“แตงโมผลใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้จากเมล็ดเล็กๆ
จำไว้นะพวกเด็กๆ เมล็ดเล็กๆ จะเป็นแตงผลใหญ่”
มีใครเคยร้องเพลงนี้บ้างเอ่ย เพลงนี้เป็นเพลงสอบของฉันสมัยประถมสอง
นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมา เมื่อเจอน้องแตงโมที่เป็นข้อสอบในวันนี้ค่ะ
เด็กหญิงแตงโม สาวน้อยสองขวบเศษ ป่วยด้วยโรคหวัดเรื้อรัง
ที่ว่าเป็นข้อสอบ เพราะเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ให้ได้ค่ะ
ตรวจเจอว่าน้องเป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง น้องตัวเล็ก
น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ กินยาก ท้องผูกเรื้อรัง งอแงง่าย ค่อนข้างเอาแต่ใจ
ปัญหาที่ดูเหมือนงูกินหาง ทุกอย่างล้วนเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน
เริ่มต้นต้องรักษาการติดเชื้อ น้องเป็นหวัดเรื้อรังเพราะรักษาไม่ต่อเนื่อง
คุณแม่ว่า “น้องกินยาไม่ได้เลยค่ะ ป้อนเขาก็ร้อง เราก็กลัวน้องจะแหวะ”
เด็กที่ไหนก็ไม่ชอบกินยาทั้งนั้นแหละค่ะ ท่าทีป้อนกล้าๆ กลัวๆ ยิ่งทำให้
ยากขึ้น เด็กเล็กไวกับท่าทีผู้ใหญ่มาก คุณแม่กลัวแล้วล่วงหน้า จับน้องก็จับแหยงๆ
น้องก็ดิ้นเตะถีบอยู่นั่น ส่งให้พี่พยาบาลป้อนเดี๋ยวเดียวก็เรียบร้อย
คุณแม่จัดการอะไรน้องไม่ได้ เพราะปกติก็ไม่ได้เลี้ยงเอง พี่เลี้ยงก็ไม่กล้าดุ
คุณแม่ไม่มีเวลาให้ลูก สงสารก็ซื้อตุ๊กตาให้ พี่หมีขนฟูอมฝุ่น น้องก็จามไป
น้องท้องผูกเพราะดื่มน้ำน้อย ไม่กินผักผลไม้ กินแต่นมขวดกับขนมก็ไม่โต
แถมไม่มีใครบังคับได้ เลี้ยงเด็กแบบไหลตามแต่ใจเด็ก มันก็เป็นฉะนี้แล
แนะนำให้คุณแม่ฝึกให้กินผักผลไม้ เริ่มจากผลไม้ฉ่ำๆ ไม่หวานจัด
เอาผลไม้เปลือกหนา จะได้ไม่ต้องห่วงเรื่องสารพิษตกค้าง
“คุณแม่ลองแตงโมสิคะ หวานๆ ฉ่ำๆ เหมือนชื่อน้องไง”
คุณแม่สบตากับคุณพ่อนิดหนึ่ง แล้วบอกว่า “ไม่กล้าให้ลูกกินหรอกค่ะ”
บ้านของน้องขายส่งแตงโม คุณพ่อเล่าว่าสารเคมีล้วนๆ ทั้งลูก แตงที่อื่น
เป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ที่บ้านนี้แตงจะถูกเก็บตั้งแต่ยังลูกเล็กน่ารัก ผิวสวย
แล้วฉีดสารที่ทำให้หวาน สารที่ทำให้กรอบ สารที่ทำให้แดง ฉีดไม่ทันก็พ่น
รมควันกันเลยทีเดียว กลิ่นสารเคมีฟุ้งกระจายไปทั้งซอย เลยไม่กล้ากิน
ผักผลไม้อื่นไปด้วย คุณพ่อสรุปว่า “สมัยนี้ไม่มีแล้วล่ะ ไม่ใช้สารเคมีน่ะ”
สารเคมีปนเปื้อนผักผลไม้มีผลตั้งแต่แค่ลิ้นชา คลื่นไส้ อาเจียน ภูมิแพ้
ผื่นตามตัว โลหิตจาง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไปจนกระทั่งเป็นสารก่อมะเร็งก็ได้
ถ้าเลี้ยงน้องไปแบบนี้ ยังนึกไม่ออกเลยว่าสุขภาพน้องจะดีขึ้นได้อย่างไร
คุณแม่ก็เข้าใจปัญหาแต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร เลยดูเครียดกันทุกฝ่าย
ต้องชี้แจงก่อน ว่าวิธีคิดของเด็กเล็กก็แบบนี้แหละ เขาไม่คิดหรอกว่า
เราบังคับป้อนยาด้วยความหวังดี เขาคิดว่าเรารังแกเขา พวกผู้ใหญ่ใจร้าย
ต้นหน่ออ่อนของ “การปกป้องตัวเอง” เติบโตขึ้นเรื่อยไป
เด็กสองขวบถูกบังคับให้กินยา กินผักผลไม้ ก็โกรธว่าผู้ใหญ่ใจร้าย
คุณแม่ที่บังคับให้ลูกกินยาไม่ได้ ก็โกรธว่าลูกดื้อ
สังคมประณามการใช้สารเคมี แม่ค้าว่าถ้าไม่ใช้ยาคุณก็ไม่ซื้อ
หมอบางคนก็เหนื่อยหน่ายกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากพฤติกรรมผิดๆ
รู้สึกเหมือนกันไหมคะว่า ปัญหาของคนอื่นมักเป็นเรื่องเล็กเสมอ
จะแก้ปัญหาของน้องแตงโม ง่ายนิดเดียว
อย่าให้น้องเจอสารเคมี ภูมิแพ้ทั้งหลายจะได้ดีขึ้น จะป่วยน้อยลง
ต้องให้เวลา เล่นกับน้องมากขึ้น เขาก็อารมณ์ดีว่าง่ายไปเอง
คุณแม่ต้องกล้าสอน กล้าดุ ลูกเราเราไม่สอนแล้วใครจะสอน
เลี้ยงให้มีวินัย ลดขนมจุบจิบ ฝึกกินผักผลไม้ ปลูกเองที่หลังบ้าน
พูดง่ายดีจัง แค่สี่บรรทัดเอง ก็จบทุกปัญหา
แต่จากประสบการณ์ แนะนำไปเถิด ไม่เห็นว่าใครจะทำได้เลย
ทฤษฎีที่ปฏิบัติไม่ได้ โจทย์ที่แก้ไม่ออก ก็ไร้ค่าเท่ากับสอบตกอยู่ดี
ปัญหาของคนอื่นมักเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเป็นเรื่องของเรา
ก็เกิดมีข้ออ้างสารพัดที่มีน้ำหนักและเต็มไปด้วยเหตุผลมาคัดค้านอยู่เรื่อย
เหตุเกิดจากผล แตงเมล็ดเล็กยังกลายเป็นแตงผลใหญ่
เจ้าหน่อเมล็ดเล็กของการปกป้องตัวเอง เพาะในตัวเรามานานหนักหนา
ตั้งโจทย์ผิดก็แก้ปัญหาพลาดอยู่ร่ำไป
แวบหนึ่งของใจ อยากโทษพ่อแม่อีกนั่นแหละ อยากใช้สารเคมีดีนัก
จะใช้คำว่า สมแล้วนี่แหละกรรมตามทัน ก็ดูจะใจร้ายเกินไป
คุณแม่ก็ดูจะรู้อยู่ เธอเริ่มโทษสังคม เศรษฐกิจ ฟ้าฝน การเมือง ฯลฯ
ดอกผลของ “การปกป้องตัวเอง” มีอยู่ในใจคนทุกคนเป็นธรรมดา
โค่นต้นเอาเองไม่ได้ง่ายๆ แต่หยุดส่งปุ๋ยบำรุงจนเม็ดฝ่อลงไปเองได้
คำถามว่า “ปัญหานี้แก้อย่างไร” กับ
“ฉันจะปรับตัวอย่างไรต่อปัญหานี้” จะได้คำตอบไม่เหมือนกัน
โลกนี้เราปรับแต่งเอาเองตามแต่ใจไม่ได้ อารมณ์ในใจยังปั้นแต่งเองไม่ได้
ยังทุกข์สลับสุข สมหวัง ผิดหวัง เจอสิ่งที่พอใจ และไม่พอใจ ยังมีการใช้
สารเคมี ยังมีโรคมะเร็ง และบ้านน้องก็ยังขายแตงโมรมควันกันต่อไป
วิธีแก้ปัญหาของน้องแตงโมมีแค่สี่บรรทัด หลายหมอ หลายโรงพยาบาล
ก็พูดคล้ายๆ กัน คุณแม่ทราบดีแต่ทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้
ฉุกใจขึ้นมา หมอที่มีท่าทีเพ่งโทษที่ตัวคุณแม่ ไม่ได้เห็นใจเขาด้วยใจจริง
แสดงว่าอยู่ในบทบาทผู้ตัดสิน ไม่ใช่ผู้รักษา ถ้าใช้เทปบันทึกคำพูดของฉัน
ในน้ำเสียงคงมีความไม่พอใจ มีกระแสการจับผิดและปรักปรำอยู่มาก
ใครที่ไหนจะอยากฟังแล้วพยายามเอาไปปรับใช้ เลยเป็นเหตุทำให้รักษา
ไม่ได้ผลหรือเปล่า อย่างนี้ตรวจไปก็เหนื่อยเปล่าทั้งสองฝ่าย ถือว่าสอบไม่ผ่าน
ขุ่นมัวกันทั้งคู่ แถมสุขภาพน้องก็เหมือนเดิม ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร
ตั้งโจทย์กันใหม่ “ฉันจะปรับตัวอย่างไรต่อปัญหานี้”
บ้านน้องมีฝุ่นจากผงเคมีฟุ้ง ต้องแนะนำให้ปิดหน้าต่าง อย่าอุ้มน้องไป
เล่นแถวโรงงาน ปลูกต้นไม้ที่ใบแน่นๆ ช่วยกรองสารพิษได้บ้าง ผงพิษ
พวกนี้ติดตามผม เสื้อผ้าได้ จะอุ้มน้องต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือบ่อยๆ
แนะนำสิ่งที่ทำตามได้ ไม่ใช่ต้องย้ายบ้าน หางานใหม่ (หรือเกิดใหม่)
สังคมประณามการใช้สารเคมี แต่ถ้าเวลาซื้อยังเลือกที่ผิวนอก
ก็เท่ากับผู้บริโภคบังคับทางอ้อมให้คนขายใช้สารเคมีต่อไป
เรามักมีเหตุผลสารพัดเรื่องเวลา ธุระความจำเป็น ความสะดวก ต่างๆ นานา
ทุกคนทราบดีว่าปลูกกินเองได้ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ไหววิธีที่พอจะช่วยได้คือ
เลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้ มีหลายร้านปลูกแล้วเก็บขายกันสดๆ ให้เห็น
หรือร้านโครงการหลวง การลงทุนออกไปซื้อผักผลไม้ดีๆ สำหรับกินหนึ่งสัปดาห์
คุ้มค่ากว่าการไปโรงหนัง ไปร้านอาหารแพงๆ เป็นไหนๆ
ลองเปลี่ยนไปเดินตลาดสดที่มีคุณยายกำผักหลังบ้านมาขาย
กินผักที่ไม่ใช่พืชผักเศรษฐกิจที่ต้องปลูกเป็นแปลงใหญ่ๆ อาจจะลดสารเคมีได้บ้าง
กินผักผลไม้ตามฤดูกาล พยายามสลับชนิดของพืชผักผลไม้ อย่ากินซ้ำๆ
เพราะจะได้รับสารเคมีชนิดเดียวมากเกินไป ผักผลไม้ที่ดูสวยหลอกตามาก
รสชาติหวานแหลมผิดธรรมชาติ หรือเก็บได้นานจนน่าสงสัยก็ระวังเถอะค่ะ
การชะล้างสารพิษมีหลายวิธีค่ะ เช่น แช่ผงฟู น้ำส้มสายชู เปิดน้ำชะแรงๆ
อย่าเสียดายน้ำเลยนะคะ ใช้น้ำยาล้างผักก็ได้ และควรล้างก่อนหั่นเสมอ
ถ้าจะทำแกงจืดผัก แนะนำให้ลวกในน้ำเดือดแล้วเทน้ำแรกทิ้งไป
ค่อยกินน้ำที่สอง เสียวิตามินไปหน่อย แต่ชะล้างพิษได้มากเชียวค่ะ
ส่วนตัวมักจะล้างผักผลไม้ หั่นเตรียมไว้ตั้งแต่หัวค่ำ สิบห้านาทีก็เสร็จ
ตอนเช้าก็ใส่ไมโครเวฟ พออาบน้ำเสร็จก็ได้แกงจืดผัก หรือสลัดผักอบอร่อยๆ
รอแล้ว ไม่ได้เสียเวลามากเลย มีผลไม้สดๆ ชื่นใจตบท้ายอีก
เราปรับให้โลกหยุดใช้สารเคมีไม่ได้ แต่ปรับที่วิถีชีวิตเราเองพอไหว
เราปรับให้เจอแต่เรื่องที่น่ายินดี น่าพอใจไม่ได้
แต่ปรับตัวเองให้ยอมรับตามจริงว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ เกิดได้ ดับได้
มองโลกต่างกัน ส่งผลให้แก้โจทย์ต่างไป คิดอย่างไร ก็ปฏิบัติเช่นนั้น
เป็นเหตุให้เกิดผลเช่นนี้ เหมือนหว่านเมล็ดแตงก็ได้ผลแตงโม
เนื้อนาดินของเรา มีทั้งพืชพรรณไม้งาม และวัชพืชรก เป็นธรรมดา
พึงถนอมดอกผลที่เกิดจากเมล็ดพรรณไม้งาม ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
ดินอุดมปัญญาสว่างจ้าไม่เอื้อต่อการเติบโตของวัชพืช
เช่น ต้น “ปกป้องตัวเอง” ต้น “โทษคนอื่นไว้ก่อน” หรือต้น “มักง่าย”
เจริญศีล สมาธิ ปัญญา หมั่นรักษานานวันเข้า
เมล็ดพรรณไม้งามก็เติบโตแก่กล้า ไม้ทรามก็ฝ่อสลายไปเอง
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ http://dungtrin.com
รักษาสุขภาพ รักษาจิตใจ เพื่ออยู่กันคนที่เรารักและรักเรา กันตลอดไปนะครับ