ธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เรื่อง "บุญกฐิน"
โดย PREZZO
PREZZO
#1
ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ท่านเทศน์ไว้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2521 มีเนื้อความดังต่อไปนี้


บุญกฐิน



เรื่อง "กฐิน" นั้น ตามธรรมตามวินัย ท่านถือว่าเป็น "กาลทาน" มีอานิสงส์มากแปลกจากการให้ทานสิ่งอื่นทั่วไป
กฐิน เป็นของทำยากไม่เหมือนทานทั่วไป เพราะเป็นกาลทาน ทานทั่วไปนั้นเรามีศรัทธา มีสิ่งของเมื่อใด เราก็ทานได้ตามความปรารถนาของเรา แต่กฐินไม่เป็นอย่างนั้น
ต้องอาศัยกาล อาศัยสมัย ท่านอนุญาตให้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น คือวันออกพรรษา แรมค่ำหนึ่ง เดือน 11 ไปถึงเดือน 12 เพ็ญ เป็นเขตกฐิน ถ้าทำในระยะนี้ไม่ทัน ถึงเราจะมีข้าวของเงินทองอยากไปทำกฐิน มันก็ทำไม่ได้ ไม่เป็นกฐินให้เป็นบังสุกุล เป็นผ้าป่า เป็นสังฆทานไป
ปีหนึ่งมีเพียงเดือนเดียวเท่านั้นที่จะทำกฐินกันได้ กฐินจึงมีอานิสงส์แรงกล้ากว่าอานิสงส์ของทานเรื่องอื่นๆ ผู้ที่จะทำกฐินได้ต้องทำด้วยยาก ต้องลำบากยากหลายอย่างหลายประการ
เพราะกฐินนั้นถึงพระจะจำพรรษาตลอดไตรมาส แต่ถ้าไม่ครบองค์ คือน้อยกว่า 5 รูปก็ทำไม่ได้ พระครบองค์แต่ทว่าไม่มีใครทราบเรื่องจะทำกฐิน เป็นต้นว่า กะผ้า ตัดผ้า เย็บ ย้อม พินทุ อธิษฐาน กราน ไม่เป็น มันก็ไม่เป็นกฐินให้ มีพระครบแล้ว แต่ถ้าพระผู้ที่จะรับกฐินได้ไม่มีความสามารถ ไม่รู้จักการทำกฐินว่าทำอย่างไร จึงจะถูกต้องตามพระวินัย ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำไม่ถูกต้องตามพระวินัย อานิสงส์ 5 มันก็ไม่เกิดขึ้น
อานิสงส์ของกฐิน ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า อานิสงส์ 5 นั้น สามารถห้ามกั้นภิกษุที่รับกฐินจากอาบัติในบางข้อ เช่น

ข้อ 1 ภิกษุอยู่ในวัดในวาจะเที่ยวไปในหมู่บ้าน จะเข้าไปบ้านในเวลาวิกาล คือบ่ายแล้วไป ต้องบอกลาภิกษุอื่น ถ้าเข้าไปโดยไม่บอกลาภิกษุอื่นท่านปรับอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ท่านอนุญาตให้เข้าไปโดยไม่บอกลาได้ ไม่ปรับอาบัติ

ข้อ 2 ภิกษุทุกรูปจะต้องรักษาผ้าครองของตัว คือ สังฆาฏิ จีวร สบง 3 ตัวนี้ ไปสถานที่ใดข้ามคืนโดยปล่อยปละละทิ้งผ้า จะเป็นนิสสัคคีย์ เจ้าของจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ จะไปค้างคืนที่อื่นต้องเอาของ 3 สิ่งนี้ติดตัวไป แต่เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านอนุญาตให้ปล่อยไว้ตัวใดตัวหนึ่ง เอาไปแต่เพียง 2 ผืนก็ได้ไม่เป็นอาบัติ

ข้อ 3 ภิกษุอยู่ด้วยกัน มีผู้มานิมนต์ไปฉันจังหัน หรือฉันเพลสำหรับพวกที่ฉันเพล ถ้าหากคนเหล่านั้นมานิมนต์ว่า นิมนต์ไปฉันข้าวบ้านผม หรือฉันแกงบ้านผม อย่างนั้นอย่างนี้ โภชนะทั้ง 5 คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ สิ่งเหล่านี้ออกชื่อไม่ได้ ฉะนั้นการนิมนต์พระไปฉันจังหันหรือฉันเพลก็ตาม เขานิยมนิมนต์กันว่า ไปฉันจังหัน-ไปฉันเพลบ้านผม ถ้าไปออกชื่อว่าไปฉันข้าวบ้านผม ภิกษุเหล่านั้นไปฉันไม่ได้ผิดพระวินัย เมื่อฉันลงไปแล้วเป็นอาบัติ แต่เมื่อได้รับกฐิน ออกชื่อโภชนะได้เมื่อไปฉันไม่ปรับอาบัติ นี่อานิสงส์กฐินเป็นเครื่องคุ้มกัน

ข้อ 4 ภิกษุผู้ที่ได้รับกฐิน อนุโมทนากฐิน ยังมีอานิสงส์ยืดออกไป ตั้งแต่เดือน 12 เพ็ญ จนถึงเดือน 4 เพ็ญ ในระยะนี้สามารถเก็บจีวรที่ไม่ต้องการใช้ไว้ได้

ข้อ 5 คือลาภสิ่งของที่ให้มาที่วัดนั้นๆ จะเป็นของภิกษุสามเณร ผู้จำพรรษาตลอดไตรมาสครบ 3 เดือนได้ แจกปันกันใช้สอย....นี่เป็นเรื่องของอานิสงส์ 5 ของกฐิน

ฉะนั้น โอกาสนี้กาลสมัยที่อำนวยให้ตัวเราก็มีความสุขกายสุขใจ ข้าวของเงินทองพอที่จะทำองค์กฐินก็มี พระภิกษุผู้จะรับก็มีครบพอบริบูรณ์ จึงเป็นโชคดี ผู้ที่ได้ทำกฐินจึงได้ชื่อว่าเป็นมหากุศล

กฐินนั้นเขาเรียกว่า กองกฐิน คำว่า กอง ก็มีของหลายอย่าง ไม่ใช่ของอย่างหนึ่งอย่างเดียว เอามากองกันขึ้นเป็นกองบุญกองกฐินก็น่าปลื้มใจ เพราะเป็นกอง ไม่ใช่ของชิ้นเดียว อันเดียว มันมีของหลายอย่างมาสมทบกันเข้าจึงเรียกว่า กองกฐิน
การทำกฐินตามตำรับตำราท่านก็กล่าวว่ามีหลายอย่าง กฐิน ก็มี จุลกฐิน ก็มี มหากฐิน ก็มี
กฐิน นั้นหมายถึงเราท่านที่กระทำพอเหมาะพอควรตามศรัทธาหน้าที่ของตน ไม่ใหญ่โตรโหฐาน ทำตามความมีความเป็นของตน พอเป็นองค์กฐินได้ ของก็ไม่มากมาย ศรัทธาในจิตในใจก็ไม่ค่อยใหญ่โตเท่าไร นี่..เรียกว่า กฐิน
จุลกฐิน หมายความว่า กฐินด่วน กฐินรีบ กฐินแล่น ทำกันในวันนั้น แต่สมัยนี้ไม่ค่อยเห็นกันเพราะคงทำยากด้วย จะต้องเอาฝ้ายมาปั่นในวันนั้น ทำในวันนั้น นำไปในวันนั้น มันคงจะยุ่งยากลำบาก สมัยนี้ไม่ค่อยมี
มหากฐิน หมายถึง สิ่งของต่างๆ นาๆ มากมายก่ายกอง เรียกว่า มหากฐิน คือ กฐินใหญ่-กฐินโต ทำกันอย่างใหญ่อย่างโต นี่..กฐินในพระวินัย
กฐินนอกพระวินัย กฐินตามเรื่องของโบราณาจารย์พูดไว้มันก็มีอีก กฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง กฐินบริสุทธิ์ นี่หมายถึงคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่เป็นปรับปรากันมา ท่านยกนิทานว่า

มีเศรษฐีคนหนึ่ง มีข้าวของเงินทองมากมายก่ายกอง มีเงิน 80 โกฏทำกฐิน ตอนทอดกฐิน ถวายกฐิน ได้ประกาศเชื้อเชิญให้เทวดาไม่ว่าภูมิเทวดาหรืออากาศเทวดามาอนุโมทนากฐินของแก
วันนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งมาอนุโมทนากฐิน พอมาจวนจะถึงวัด มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง บังเอิญมีคนๆ หนึ่งอยู่ใต้ต้นไทรนั้น ได้ยินเสียงเทวดาที่มากล่าวชวนรุกขเทวดาซึ่งอยู่ที่ต้นไทรให้ไปอนุโมทนากฐินของมหาเศรษฐี แต่รุกขเทวดาที่ต้นไทรเชิญให้ไปก่อนเถิด เมื่ออนุโมทนาเป็นอย่างไรแล้ว ขอให้กลับมาเล่าให้ฟังด้วย คือรุกขเทวดาต้นไทรไม่ไปด้วย ไปแต่เทวดาองค์ที่จรมา
พอไปอนุโมทนา พวกศรัทธาและเจ้าของกฐินก็แจกสุรากัน คนมาในงานเมากันอึกทึก พูดลั่น ไม่มีความสงบสงัด ไม่ปฏิบัติตามเรื่องของธรรม พอถวายแล้วอนุโมทนาแล้ว เทวดาจรก็กลับมา บุรุษผู้นั้นอยากทราบว่าเรื่องถวายกฐินเป็นอย่างไร เขาก็ยังไม่หนีไปจากร่มไทร คอยให้เทวดาองค์ที่ไปอนุโมทนากลับมาก่อน จะมาพูดกับเทวดาที่อยู่ต้นไทรนี้ว่าอย่างไร
พอเทวดาจรกลับมาถึง รุกขเทวดาต้นไทรก็ถามว่า เป็นอย่างไรกฐินของมหาเศรษฐีที่ทำไป ท่านก็ตอบว่า กฐินบูด ทำไมถึงบูด เพราะกินเหล้ากินยาเอิกเกริกเฮฮาโกลาหลไม่มีความสงบ ไม่ปฏิบัติตามอรรถตามธรรมเลย ว่างั้น แล้วเทวดาท่านก็ไป
คนๆ นี้ก็มาเล่าให้เศรษฐีเจ้าของศรัทธาฟัง เศรษฐีก็เสียใจ เอา..เราทำใหม่ เพราะข้าวของเงินทองเราไม่อด ก็ทำอีกเป็นกองที่ 2 คราวนี้จะต้องไม่เอาเหล้ายามาเกี่ยวข้อง แต่ว่าฆ่าวัวควาย ฆ่าหมู ฆ่าไก่กันอย่างใหญ่โต คนมาในงานก็อิ่มหนำสำราญ ทำกันอย่างเต็มที่ ใครมาก็กินกัน ไม่ได้คิดถึงว่าการทำอย่างนั้นมันจะเป็นบาปเป็นกรรมอะไร เพราะเขาไม่อดอยากทำไปตามอำเภอใจ ทำไปด้วยความเห็นของตน
เมื่อถึงคราวทอดกฐิน เศรษฐีก็ให้รางวัลแก่คนนั้นไปคอยดักฟังอีกว่าเทวดาท่านจะตำหนินินทาหรือสรรเสริญอย่างไร เราจะให้รางวัลแก่ท่านอย่างงาม ถ้าหากได้ความจากเทวดามาบอกกับเรา คนนั้นก็ยินดีไป ก็ไปดักอยู่ต้นไทรต้นเก่า พอถึงเวลาประกาศให้เทวดามาอนุโมทนา รุกขเทวดาก็ไม่ไป แต่ขอให้เทวดาที่ไปกลับมาเล่าให้ฟังหน่อย พอเขาทอดเสร็จก็กลับมาบอกว่า กฐินเน่า

พอได้ยินว่าเป็นกฐินเน่า คนที่ดักฟังก็มาเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีก็เสียใจอีก แต่ก็ทำอีกเพื่อจะแก้ไข เพราะยังไม่พ้นจากเขตกฐิน ยังอยู่ในกาลกฐิน เขาก็ทำกันรีบด่วนเพราะกลัววันเวลามันจะหมดไป มันจะไม่ทันกับกาลกับสมัย ทำคราวนี้ดุด่าข้าทาสกรรมกรต่างๆ นาๆ ไม่ทันใจก็ด่าเอาดุเอา เศรษฐีมีความโกรธในจิตในใจ เพราะใช้คนไปทำอันโน้นอันนี้ไม่ถูกใจก็ด่าก็ว่า ถึงวันเวลาไปทอด คราวนี้ไม่มีเหล้ายา ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อาหารการกินต่างๆ ที่จะถวายพระก็จ่ายมาจากตลาด ไม่ได้สั่งมาฆ่ามาทำที่บ้านเหมือนก่อน แต่ดุด่าโกรธคนอื่น พอไปทอดก็ให้รางวัลคนนั้นให้ไปดักฟังอีก
เทวดามาชวนรุกขเทวดาที่ต้นไทร เทวดาที่ต้นไทรก็ไม่ไป แต่บอกให้เทวดาองค์ที่ไปแวะมาเล่าให้ฟังด้วย เมื่ออนุโมทนาแล้ว เทวดาก็กลับมาบอกว่า กฐินคราวนี้สมบูรณ์ทุกอย่างแต่เสียอย่างเดียวที่เป็น กฐินเศร้าหมอง เพราะจิตใจของเศรษฐีไม่บริสุทธิ์เศร้าหมองด้วยความโกรธ คนนั้นก็ไปบอกให้เศรษฐีฟัง แกก็เสียใจเพราะทำมา 3 ครั้งแล้ว ไม่มีกฐินอะไรที่บริสุทธิ์ผุดผ่องให้ ก็เลยทำอีกครั้งที่ 4
ครั้งที่ 4 แกทำดีไม่โกรธใคร สุรายาเมาก็ไม่ได้เอามาเกี่ยวข้อง สัตว์ก็ไม่ได้เอามาฆ่า ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ เมื่อถึงวันเวลาทอด ก็ประกาศให้เทวดามาอนุโมทนาอีก เทวดามาคราวนี้กลับไปเล่าให้เทวดาที่ต้นไทรฟังว่า กฐินบริสุทธิ์
นี่แหละ..กฐินที่พูดกันในสมัยโบราณ พูดว่ามี กฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง กฐินบริสุทธิ์ นี้หมายถึงการทำของเศรษฐีคนเดียวที่ทำอย่างนั้น ทำแบบที่บูดมันก็บูด ทำแบบที่เน่า มันก็เน่า ทำแบบที่เศร้าหมอง มันก็เศร้าหมอง ทำแบบที่บริสุทธิ์ มันก็บริสุทธิ์ เพราะอยู่ในจิตในใจของคนที่ทำ บูด เน่า เศร้าหมอง หรือบริสุทธิ์ ไม่ใช่มันเกิดจากที่อื่น....นี่ พูดถึงเรื่องกฐินที่ท่านเล่าเอาไว้เป็นปรัมปราจำกันมา

แต่อานิสงส์ของกฐินนั้นมันมีมาก คนที่ได้ทำอานิสงส์ในสมัยพุทธกาลในสมัยเก่าก่อน ท่านกล่าวถึง "ทินบาล" ที่ทำกฐินกับมหาเศรษฐี ได้อานิสงส์ปัจจุบัน ก็น่ามีอานิสงส์อย่างนั้นเพราะเขาทำกันจริงจัง

มหาเศรษฐีทำบุญจองกฐินจะทอดกฐิน ในบ้านมหาเศรษฐีก็มีคนจำนวนมาก และนาย ทินบาล คนนี้ ไม่มีความรู้อะไรไปอาศัยอยู่กับเศรษฐี เศรษฐีจะให้ทำการทำงานหน้าที่อะไรเขาก็ไม่มีความรู้ ทินบาล หมายถึง บุรุษที่รักษาสวนหญ้า ดายหญ้าให้มหาเศรษฐี แต่ละวันเศรษฐีก็ให้ข้าวพอได้อยู่ได้กินเป็นวันๆ ไปเท่านั้น ไม่มีเงินเดือนเงินดาวอะไร เพราะเขายากจนเข็ญใจ ได้กินวันๆ ก็เป็นพอของเขา โดยอาศัยอยู่กับมหาเศรษฐี
ถึงกาลถึงเวลากฐินเข้า เศรษฐีจัดการงานใหญ่โต เขาก็สงสัยว่าท่านเศรษฐีทำอะไรกันแบบนี้ แต่ก่อนเก่าไม่เห็นเคยทำ จะทำบุญสุนทานอะไร เศรษฐีก็ว่าจะทอดกฐิน เอ๊ะ กฐินนี่ มันมีอานิสงส์อย่างไร เขาก็สนใจถาม เศรษฐีว่ามีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ทำมหากฐิน
เขาก็ยินดีเต็มใจมีศรัทธา แต่ไม่มีอะไรที่จะอนุโมทนากับเศรษฐี เงินทองข้าวของก็ไม่มี มีผ้าผืนเดียวที่นุ่งอยู่เท่านั้น เราจะทำอย่างไร เราเกิดมาอดอยากยากจนไร้ทรัพย์อับปัญญา เพราะชาติเก่าก่อนเราไม่เคยทำบุญสุนทานอะไรมา เราจึงทุกข์ยากอนาถาอย่างนี้ จิตใจมันคิดวกไปอย่างนั้น อยากจะทำบุญทำกุศลร่วมกับมหาเศรษฐีเป็นอย่างยิ่ง แต่คิดหาอะไรไม่มีที่จะทำ ก็เห็นแต่ผ้าที่ตัวนุ่งอยู่ผืนเดียวเท่านั้น
เลยเปลื้องผ้าที่นุ่งออก หาใบไม้มาตัดนุ่งแทนผ้า นำไปซักฟอกแล้วนำไปขายที่ตลาดได้เงินมาบาทเดียว เอามาอนุโมทนากับมหาเศรษฐี พอดีข้าวของบริขารทุกอย่างสมบูรณ์ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง แต่ไปขาดอยู่ที่ด้ายเย็บผ้าไม่มีลืมซื้อมา เงินบาทนั้นเขาก็ไปซื้อด้ายมาเป็นด้ายเย็บผ้า
พอเสียสละไปกับมหาเศรษฐีเท่านั้น เทวดาในหมื่นโลกธาตุแซ่ซ้องสรรเสริญเสียงเอิกเกริกโกลาหล จากการให้ทานเงินบาทเดียวที่ทินบาลทำไป เสียงแซ่ซ้องสาธุการดังจนลั่นเข้าไปในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินตกพระทัยว่าเกิดเรื่องอะไรใหญ่โตขึ้นเพราะไม่เคยได้ยินเสียงแบบนี้มาก่อน ก็เลยสืบถามสาวกันไปจนทราบเรื่องว่าเป็นเสียงเทวดาอนุโมทนากฐินจากทินบาลที่ได้เสียสละผ้านุ่งของตัวเอาใบไม้มาตัดนุ่งแทนผ้า อนุโมทนาบุญกฐินร่วมกับมหาเศรษฐี
พระเจ้าแผ่นดินได้ยินอย่างนั้นก็ยินดีอยากจะพบหน้าทินบาล ส่งราชบุรุษในพระราชวังไปเชิญให้เข้ามาหา จะพระราชทานสิ่งของให้ แต่ทินบาลก็ไม่กล้าที่จะเข้ามา เพราะไม่มีผ้าน่งผ้าห่ม จะเข้ามาในพระราชวังมาหาพระเจ้าอยู่หัวก็กลัวละอาย พระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานผ้าที่สวยงามมาให้แก่เขา เขาจึงเข้ามาในพระราชวัง พระเจ้าแผ่นดินขอซื้อบุญกุศลจากทินบาล ทินบาลไม่ยอมขาย จะซื้อเท่าไร ให้เท่าไรก็ไม่ขาย บุญกุศลที่ตัวทำไป พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่มีข้อบังคับบัญชาที่จะให้เขาขายให้
ทินบาลไม่ขาย แต่ถ้าจะอนุโมทนาด้วย เขาให้อนุโมทนาด้วย พระเจ้าแผ่นดินก็อนุโมทนา แล้วจัดสิ่งของต่างๆ นาๆ ให้จนทินบาลได้เป็นเศรษฐีในชาติปัจจุบันนั้นเอง
นี่...อานิสงส์ปัจจุบันที่เขาทำกันอย่างจริงใจ นอกจากนั้นเมื่อหมดอายุสังขารตายไปจากชาติมนุษย์ เขาก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสรวงสวรรค์ นี่..พูดถึงตำรับตำรา อานิสงส์ของกฐิน.....


(คัดย่อธรรมเทศนาเรื่อง "บุญกฐิน" นี้จากหนังสือ ธัมมวโรวาท - กฐินานุสรณ์ 2528 ของชมรมพุทธศาสน์ กฟผ. แนบส่วนหนึ่งของคำแถลงในหนังสือของ นาวาอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ กรรมการที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสน์ กฟผ. สมัยนั้นที่กล่าวถึงธรรมเทศนานี้ว่า
"....เผอิญได้อ่านพบ พระธรรมเทศนาบทหนึ่งของท่านพระอาจารย์ สิงห์ทอง ธมฺมวโร อดีตเจ้าอธิการวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร แสดงอานิสงส์ของกฐินไว้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง จึงได้กราบเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์อุ่น ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเมตตาอนุญาตให้พระธรรมเทศนาบทนั้นแล้ว ยังเมตตาอนุญาตให้พิมพ์พระธรรมเทศนาบทอื่นๆ ของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ด้วย
จึงขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ รวมทั้ง แพทย์หญิง อมรา มลิลา ผู้เป็นผู้ริเริ่มในการถอดเทปและรวบรวมต้นฉบับคำเทศนาของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองฯ ไว้..."
TEDDY07
#2
อนุโมทนา สาธุ :D
ดูกระทู้ทั้งหมดในชุมชน จาก  Downtown ดูกระทู้ในหมวด ดูกระทู้ในหมวดย่อย
กระทู้แนะนำจากการคัดเลือกอัตโนมัติ
1
2
3