Originally Posted by rocky_cb
ข้อเท็จจริงเรื่องความมั่นคงของเขื่อนศรีนครินทร์
ครั้งแล้ว ครั้งเล่า เกือบจะทุกปีที่ข่าวลือเกี่ยวกับ เขื่อนจะแตกในจังหวัดกาญจนบุรี ได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และกลายเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในฤดูฝน การแพร่กระจายของข่าวสารที่บิดเบือนและขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ทั้งโดยสื่อมวลชน นักวิชาการที่มีชื่อเสียง ผู้บริหารประเทศ และบุคคลทั่วไป ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด และความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวนั้นได้ก่อให้เกิดการสูญเสีย ทางเศรษฐกิจของประชาชนชาวกาญจนบุรี เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ข่าวสารและข่าวลือดังกล่าวได้สร้างผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ตามมาด้วยเช่นกัน เช่นความไม่มั่นใจของนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เขื่อน และความรู้สึกที่เป็นลบต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลเขื่อน รวมทั้ง การปล่อยข่าวลือที่หวังผลของมิจฉาชีพต่างๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้าความจริงที่ถูกต้องตามหลักทางวิทยาศาสตร์หรือทางวิชาการถูกเปิดเผยออกมา อย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชน ก็จะสามารถเข้าใจและหายสงสัย เกิดความมั่นใจต่อความมั่นคงของเขื่อนศรีนครินทร์อย่างเต็มเปี่ยม คือ
1. การก่อสร้างเขื่อนได้ดำเนินการบนพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มงวด มีการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดยบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ EPDC จาก ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวมาก และก่อสร้างโดยบริษัทผู้มีประสบการณ์ระดับโลก บริษัท VIANINI จากประเทศอิตาลี ภายใต้การตรวจสอบของธนาคารโลก (World Bank) โดยให้ INTERNATIONAL BOARD OF CONSULTANT (IBC) เป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้การดำเนินงานเพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนได้ยึดถือมาตรฐานสูงสุดด้านวิศวกรรมของสมาคมเขื่อนใหญ่โลก International Commission on Large Dam (ICOLD)
2. นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวที่มีชื่อเสียง เชื่อถือได้ในประเทศไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับรอยเลื่อนในประเทศไทยว่า ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อเขื่อนได้เลยคือ
โอกาสการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยแทบไม่มีเลย นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ารอยเลื่อนในประเทศไทยที่มีพลังนี้ยังไม่เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง (รอยเลื่อนที่มีพลัง หมายถึง รอยเลื่อนที่มีอายุน้อยกว่า 10,000 ปี รอยเลื่อนจะมีการสะสมของพลังงานไว้ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งจะมีการขยับตัว เป็นที่มาของแผ่นดินไหว ส่วนรอยเลื่อนที่ไม่มีพลังหมายถึงรอยเลื่อนที่มีอายุมากเกิน 10,000 ปี ไม่สามารถสะสมพลังงานทำให้เกิดการสั่นไหวของแผ่นดินได้)
รอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า ซึ่งเป็นรอยเลื่อนใหญ่และยังมีพลังอยู่ มีการขยับตัวหรือการเคลื่อนตัวจะไม่รุนแรงเท่ากับการขยับตัวของเปลือกโลกบริเวณขอบทวีป เช่น การเกิดสึนามิที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย (เกิดขนาด 9.0 ริคเตอร์) แต่สำหรับรอยเลื่อนที่
เป็นแขนงของรอยเลื่อนสะแกงที่แยกเข้ามาในประเทศไทยคือ แนวแขนงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ และแนวแขนงรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ยังไม่พบว่าเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง ดังนั้นรอยเลื่อนดังกล่าวจึงไม่มีอันตรายอย่างที่เข้าใจกัน
3. ด้านการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขื่อน มีเครื่องวัดขนาดและระยะห่างของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว และเครื่องวัดอัตราเร่งหรือวัดแรงสั่นสะเทือน ที่มากระทำกับตัวเขื่อน ทั้งหมดเป็นระบบ DIGITAL ที่ทันสมัยที่เชื่อมโยงกับศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวของ กฟผ. ที่บางกรวย และถ่ายทอดข้อมูลไปที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีการเฝ้าระวังต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวตลอดเวลา ถ้ามีเหตุการณ์ที่รุนแรงก็สามารถแจ้งเตือนผู้ที่อยู่ในจุดเสี่ยงได้ทันที เพื่อการอพยพต่อไป สำหรับ กฟผ. มีการดำเนินการ คือ
- มีการตรวจสอบสภาพเขื่อนเป็นประจำ หากเกิดแผ่นดินไหว ในรัศมี 200 กม. ในระดับ 5.0 ริคเตอร์จะมีการตรวจสอบเขื่อนทันที และถ้ากักเก็บน้ำได้เกิน 90 % ก็จะมีการตรวจสอบทันทีเช่นกัน ในเวลาปกติทุก 2 ปี จะมีการตรวจสอบใหญ่ โดยคณะกรรมการฯและทุกวันจะมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อน
- มีมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ร่วมกับจังหวัดกาญจนบุรี คือจัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. กฟผ.ได้ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาวิจัย โดยนำแรงกระทำจากแผ่นดินไหวรุนแรง
ทั่วโลกมาทดลองกระทำต่อเขื่อนศรีนครินทร์ซึ่งผลการทดลองพบว่า เขื่อนสามารถรับแรง
แผ่นดินไหวได้สูงกว่าที่ออกแบบไว้ถึง 10 เท่า หรือเท่ากับความรุนแรงของแผ่นดินไหวขนาด
ใหญ่ (7.0 ริคเตอร์)โดยมีความเสียหายเล็กน้อย คือสันเขื่อนมีการทรุดตัวเพียง 3.4 ม. น้อยกว่า
ความสูงของสันเขื่อนที่เผื่อไว้เหนือระดับกักเก็บน้ำ 5.0 ม. ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อการวิบัติ
ของตัวเขื่อน แกนดินเหนียวของเขื่อนหากเกิดรอยร้าวจากการเคลื่อนตัวจะถูกวัสดุในชั้นวัสดุ
กรองเคลื่อนตัวมาอุดรอยแยกที่เกิดขึ้นเอง ทำให้แกนดินเหนียวยังคงเก็บกักน้ำได้และมีความ
มั่นคงเพียงพอ ไม่พังทลายลงมา
5. สาเหตุหลักที่อาจทำให้เขื่อนเกิดปัญหา อ้างอิงจากหนังสือ DAMS AND PUBLIC SAFETY , 1983 จะเห็นได้ว่าปัญหาจากแผ่นดินไหวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด แม้ว่าเขื่อนจะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แผ่นดินไหวรุนแรงก็ตาม
สถิติสาเหตุแห่งการพิบัติของเขื่อนในโลก
ลำดับที่ สาเหตุ แห่งการพิบัติ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์
1 ความเสียหายจากฐานรากเขื่อน 40 เปอร์เซ็นต์
2 อาคารระบายน้ำล้นมีขนาดไม่เพียงพอ 23 เปอร์เซ็นต์
3 การก่อสร้างไม่ดี 12 เปอร์เซ็นต์
4 การทรุดตัวอย่างรุนแรง 10 เปอร์เซ็นต์
5 แรงดันน้ำในตัวเขื่อนสูงมาก 5 เปอร์เซ็นต์
6 เกิดจากสงคราม 3 เปอร์เซ็นต์
7 การไหลเลื่อนของลาดเขื่อน 2 เปอร์เซ็นต์
8 วัสดุก่อสร้างไม่ดี 2 เปอร์เซ็นต์
9 การใช้งานเขื่อนไม่ถูกต้อง 2 เปอร์เซ็นต์
10 แผ่นดินไหว 1 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งสอดคล้องกับประธานคณะกรรมการด้านแผ่นดินไหวขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ คือ ดร.มาติน วีแลนด์ ได้เขียนบทความไว้มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า เขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียว (เขื่อนศรีฯ) และเขื่อนหินถมดาดหน้าด้วยคอนกรีต (เขื่อนวชิราลงกรณ) จะสามารถทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวได้ดีกว่าเขื่อนประเภทอื่น
6. ในปี 2526 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ห้วยแม่พลู ซึ่งห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ 50 กม. โดยการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้น ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายใด ๆ แก่เขื่อนศรี-
นครินทร์
7. 12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศจีนมีขนาด 8 ริกเตอร์ ประชาชน
เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก แต่เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว และเขื่อนหิน
ถมแกนดินเหนียวดาดหน้าด้วยคอนกรีต ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว 40 และ 20 กม.
ตามลำดับไม่มีความเสียหายเลย เสียหายแต่ในส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคารบางส่วนเท่านั้น
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า เขื่อนศรีนครินทร์ยังมีความมั่นคง แข็งแรง และ
ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวในทุกกรณีที่มีการกล่าวอ้างกันในข่าวที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น เราจึง
มั่นใจได้ว่าเขื่อนศรีนครินทร์ ยังมีความมั่นคงปลอดภัยต่อแรงกระทำจากแผ่นดินไหวโดยไม่เกิดการ
พังทลาย และไม่เกิดน้ำหลากลงไปทำลายชุมชนท้ายน้ำอย่างแน่นอน
*****************
นายกิตติ ตันเจริญ
ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เรียบเรียง
นายวีรชัย ไชยสระแก้ว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์-บริหาร ผู้ตรวจทาน
8/1/52