ข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนที่เริ่มมีอาการแต่ไม่รีบรักษา ปล่อยทิ้งไว้นานจนมีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรัง เนื่องจากผิวข้อเข่าเริ่มสึกกร่อนเสื่อมไปจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เดินลำบาก มีเสียงดังในเข่า หลายคนสงสัยว่าแนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อม ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะช่วยแก้ปัญหาข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้ายได้จริงหรือไหม? วันนี้เราได้รวบรวมความรู้จากทางศูนย์กระดูกและข้อ รพ.นครธน เกี่ยวกับวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยเทคนิคระงับปวด ฟื้นตัวเร็ว หลังผ่าตัด จะมีแนวทางเป็นอย่างไร ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกันได้เลยค่ะ
ข้อเข่า เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะ ยืน เดิน หรือนั่ง หากข้อเข่ามีความผิดปกติ หรือข้อเข่าเสื่อมสภาพลง อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหว และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Arthroplasty: TKA) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมขั้นรุนแรง ทำโดยการนำผิวข้อเข่าที่เสื่อมออกแล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดี ทั้งนี้ผู้ป่วยจะไม่เจ็บปวดหลังผ่าตัดเหมือนในอดีต เพราะผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย สามารถลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
สัญญาณเตือนโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) อาการเริ่มจากปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อได้พักการใช้เข่า อาการปวดก็จะทุเลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ในรายที่เป็นมากอาการปวดจะเป็นตลอดเวลา เกิดภาวะข้อฝืด มีเสียงดังในเข่า ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด ตามมาด้วยการเกิดข้อผิดรูป หัวเข่าเสื่อมบวมโต บางรายมีขาโก่งออกมา ปวดเข่าบ่อย ๆ และปวดมากขึ้นตอนนั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ ขึ้นลงบันได หรือคุกเข่า เข่าบวม เข่าอุ่น รู้สึกร้อนบริเวณเข่า และมีปัญหาในการใช้งานข้อเข่า เช่น ลุกนั่งม้าเตี้ย ขึ้นลงบันได รวมทั้งการเดิน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิม และอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- อายุ – อายุมากก็มีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก
- เพศ - เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2 เท่า
- น้ำหนัก – ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
- การใช้ข้อเข่า – ผู้ที่นั่งยอง ๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนาน ๆ จะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า - ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ เนื่องจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง
เทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ปัจจุบัน การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นที่นิยมมาก เพราะเห็นผลการรักษาไว และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก ซึ่งผิวข้อเข่าเทียมที่เปลี่ยนนั้นทำมาจากสเตนเลสผสมจำพวกนิเกิล โคบอล ไททาเนียม ส่วนหมอนรองกระดูกเทียมทำจากวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดพิเศษ (Polyethylene) ไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย น้ำหนักเบา และใช้งานได้คงทน เป็นที่รู้จักของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลก
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด มีดังนี้
- มีภาวะข้อเข่าเสื่อมที่มีการสึกหรอและเสื่อมสภาพซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายรังสี
- อาการปวด บวม ตึงข้อเข่า ซึ่งส่งผลต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
- ได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
1.ด้านร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่แต่พออิ่ม ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน และยังคงต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
- บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนให้แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา ออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดิน เดินเร็ว ว่ายน้ำ
- ขี่จักรยาน รวมถึงการบริหารปอดโดยการหายใจลึกๆ ยาวๆ บ่อย ๆ
- ระวังการติดเชื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจไปสู่ข้อเทียม หากมีปัญหาควรพบแพทย์รักษาก่อนผ่าตัด เช่น แผลตามร่างกาย ปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะซึ่ง อาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบ รวมถึงสุขภาพในช่องปาก ควรทำฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนให้เรียบร้อยก่อนผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน งดก่อนผ่าตัด 7 วัน หรือตามแผนการรักษา เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมากขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด
2.ด้านจิตใจ
- ควรทำจิตใจให้ สงบ ผ่อนคลาย
- หากมีเรื่องวิตกกังวล สงสัยเกี่ยวกับโรค การรักษา การดูแลตนเอง ค่าใช้จ่าย หรืออื่น ๆ ควรซักถาม ปรึกษาแพทย์หรือ พยาบาล
3.การเตรียมผู้ดูแลหลังผ่าตัด และเตรียมปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
- ควรเตรียมผู้ดูแลเพื่อช่วยเหลือในระยะหลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือตามความเหมาะสม
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ควรนอนบนเตียงที่มีความสูงเสมอเข่า ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง ดูแลบ้านให้สะอาด เรียบร้อย ไม่มีของวางเกะกะ เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม ส้วมควรเป็นชักโครก เป็นต้น
ขั้นตอนในการผ่าตัด
เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะผิวของกระดูกทั้ง 3 ส่วนที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า (กระดูกส่วนของต้นขา หน้าแข้ง และสะบ้า) โดยแพทย์จะตัดส่วนของผิวข้อที่สึกหรอหรืออักเสบออกไป ซึ่งมีความหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แต่งกระดูกให้ได้มุมรับกับผิวข้อเทียม แล้วจึงใส่ข้อเทียมด้านกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้งซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ทำด้วยโลหะอย่างดี โดยมีพลาสติกชนิดพิเศษซึ่งทำหน้าที่คล้ายกระดูกอ่อน คั่นอยู่ระหว่างข้อเทียมที่เป็นโลหะ ส่วนข้อเทียมที่ใส่ด้านหลังของกระดูกสะบ้าทำด้วยพลาสติกเช่นกัน และใช้ซีเมนต์พิเศษยึดระหว่างข้อเทียมกับกระดูกไว้ ดังนั้นข้อเทียมจึงมีความแข็งแรงและทนทานยาวนาน
ผลการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ
ยกระดับการผ่าตัด ด้วยตัวช่วยระงับความเจ็บปวด ฟื้นตัวเร็ว หลังผ่าตัด
สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกังวล คือ การปวดแผลหลังผ่าตัด แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บปวดหลังผ่าตัดเหมือนในอดีต โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ด้วยวิธีการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย ที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการระงับปวดด้วยวิธีผสมผสาน (multimodal analgesia) คือ การใช้ยาที่มีกลไกการ ออกฤทธิ์แตกต่างกันร่วมกัน จึงระงับปวดได้ดี และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการฉีดยาชาลดปวด จะใช้เข็มหรือใส่สายคาเพื่อให้ยาชาที่บริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย ยาชาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยสูง สามารถลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล
เนื่องด้วยแนวทางดูแลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดในปัจจุบัน นอกจากคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยแล้ว ยังมุ่งเน้น ส่งเสริมการฟื้นตัวหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด การสกัดกั้นเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Blocks) จึงเป็นวิธีที่ช่วยควบคุมความปวดระหว่าง และ หลังผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดจากการผ่าตัดได้ดี ช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว และลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
หลังการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน ประมาณวันที่ 1-2 หลังทำผ่าตัดจะเริ่มหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกายภาพบำบัด รวมถึงการจัดบ้านให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย และพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อหลังการผ่าตัด ข้อเข่าหลวมหลังจากการใช้งานไประยะหนึ่ง เป็นต้น
ทุกท่านคงจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย ด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกันแล้ว หากยังมีความกังวลสงสัย หรือต้องการติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ทางศูนย์กระดูกและข้อ รพ.นครธน มีความพร้อมเป็นอย่างมากมีบุคลากรทีมแพทย์ผู้เฉพาะทางไว้รองรับ และคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลก่อนได้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ : https://www.nakornthon.com/article/detail/ก้าวใหม่ได้อีกครั้งกับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม