มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของผู้หญิงทั่วโลก และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงยุคใหม่มีความตื่นตัวในการตรวจสุขภาพมากขึ้น ทำให้เราสามารถพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ ได้เร็วขึ้น เปอร์เซนต์การตรวจพบเจอในระยะเริ่มต้นมีมากขึ้น การรักษาให้หายจึงมีมากขึ้นตามลำดับ
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม จริงๆ แล้ว มะเร็งเต้านมยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำเราไม่ทราบวิธีที่จะป้องกัน ยกเว้นกรณีที่เป็นกรรมพันธ์ ซึ่งทราบสาเหตุแน่ชัดซึ่งเราสามารถป้องกันได้
กลุ่มเสี่ยง
1.ผู้ที่มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านม
2.ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
3.ผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนนานติดต่อกันมากกว่า 5 ปี
วิธีการการป้องกันที่ดีที่สุด...คือการตรวจพบเจอให้เร็วที่สุด ร้อยละ 90 ของเนื้องอกในเต้านมของสตรีถูกพบครั้งแรกด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น ผู้หญิงทุกคนควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็น และควรทำทุกเดือนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดระดูได้ 7- 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มทำให้ตรวจได้ง่าย และสำหรับสตรีที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดระดูหรือได้รับการตัดมดลูกไปแล้ว ควรทำการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง
การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast self-examination)
3 วิธีที่คุณเองก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง
1.ยืนหน้ากระจก
- ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ
- ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่าหรือเก้าอี้ ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น
2.นอนราบ
- นอนในท่าสบายและสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ซ้าย
- ยกแขนเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านซ้ายแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อมากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด
- ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านมเพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่
3.ขณะอาบน้ำ
- สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการจะตรวจบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างคลำในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในท่านอน
- สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือทั้งสองข้างนั้นประคองและตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ตรวจคลำจากด้านบน ขณะอาบน้ำให้ถูสบู่ด้วยจะทำให้คลำง่ายขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้น รวมทั้งเป็นคนช่างสังเกตดูว่าเรามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
Health’s Tip
** ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหารอยโรคซ่อนเร้น เพ่อนำไปสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที
** ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ หลังหมดระดูได้ 7- 10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวมและนิ่มทำให้ตรวจได้ง่าย
โดย นพ.ชนินทร์ อภิวาณิชย์
ศัลยแพทย์
ศูนย์รักษ์เต้านม (Breast Cancer Center)
โทร. 0-2596 - 7888 ต่อ 7906, 2326
https://www.nonthavej.co.th/Breast-cancer-2.php