เมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลกคุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมหวังให้ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่โอกาสแบบนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว และหากตรวจพบว่าเจ้าตัวน้อยมีภาวะ “
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” ด้วยแล้วนั้น ยิ่งสร้างความวิตกกังวลใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่เป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อแม่ควรต้องทำความรู้จักโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นเจ้าตัวน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้ทันท่วงที
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบได้ในเด็กแรกเกิดในอัตรา 8 คน ต่อเด็กแรกเกิดใหม่ 1,000 ราย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 50 ไม่มีอาการ ที่เหลือมีอาการเขียว เกิดจากความผิดปกติในการสร้างส่วนต่างๆ ของหัวใจตั้งแต่ตั้งครรภ์ช่วงแรก หัวใจมีส่วนประกอบเป็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็นห้องต่างๆ 4 ห้อง มีผนังกั้นแยกหัวใจด้านซ้ายและขวาออกจากกัน มีลิ้นหัวใจกั้นแยกหัวใจห้องบนและห้องล่าง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกิดได้อย่างไร?
ภาวะ
หัวใจพิการแต่กำเนิดยังไม่ทราบสาเหตุอย่างชัดเจน อาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการดาวน์สัมพันธ์กับการมีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus)
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีอาการอย่างไร?
อาการแสดงของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีได้หลายแบบ เช่น หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย เลี้ยงไม่โต หน้าอกโป่ง เขียว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นลม เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปอาการสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1.Heart Murmur คือ ไม่มีอาการของโรคอย่างชัดเจน แต่ฟังได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติเป็น murmur เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กที่มาพบแพทย์ โดยอาจพบสูงถึง ร้อยละ 30 – 60 ของเด็กทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กทารกหรือเด็กที่มีไข้จะฟังได้ชัดเจนขึ้น
2.ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) มีอาการแสดงที่บอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ มีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ โดยไม่ได้สัดส่วนกับเสื้อผ้าที่หนาหรืออากาศร้อน
- การดูดนมใช้เวลานานกว่าปกติ เด็กปกติดูดนมหมดหรืออิ่มใช้เวลาไม่เกิน 15 – 20 นาที แต่ในเด็กที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะใช้เวลานานกว่า หรืออาจใช้เวลาปกติแต่ปริมาณนมน้อยเกินไป (เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ปกติควรดูดนมต่อมื้อ จำนวนเป็นออนซ์เท่ากับน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ตัวอย่างเช่น เด็กน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ควรดูดนมได้มื้อละ 4 ออนซ์ ทุก 4 ชั่วโมง)
- อาการตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น
- ในเด็กโตมักมีอาการเหมือนกับในผู้ใหญ่ เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง
3.อาการเขียว (Cyanosis) โดยสังเกตจากบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตา หรือใต้เล็บ ในเด็กเล็กที่เริ่มมีอาการเขียว อาจเห็นว่าปลายนิ้วมือมีสีแดงเข้มกว่าส่วนอื่น
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?นิจฉัยอย่างไร?
1.ตรวจเอ็กซเรย์ปอด เพื่อประเมินภาวะหัวใจโต และเงาของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงยังปอดทั้ง 2 ข้าง
2.ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อประเมินขนาดของหัวใจแต่ละห้อง และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
3.ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด เพื่อดูความผิดปกติ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
4.ตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRA) เพื่อดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ในกรณีที่การตรวจพิเศษอย่างอื่นไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจน
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการรักษาอย่างไร?
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1.การรักษาด้วยยา (Medical Treatment) ได้แก่ กลุ่มยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อควบคุมอาการทางหัวใจ เช่น ในกรณีที่มีผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect) ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อยที่สุด
2.การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) ในกรณีที่มีความผิดปกติ เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว หรือ การผ่าตัดปิดผนังกั้นห้องหัวใจด้านล่างที่รั่ว
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มีวิธีการดูแลเด็กอย่างไร?
1.เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ ความดันปอดสูงผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
2.ดูแลด้านอาหาร และโภชนาการ งดให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ของหมักดอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น
3.ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหรือผนังหัวใจ
4.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ควรพาเด็กไปรับวัคซีนต่างๆ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดมีหลายชนิด คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นคอยดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านโภชนาการ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยการออกกำลังกายที่พอเหมาะ หากสังเกตถึงอาการผิดปกติของเจ้าตัวน้อย ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ด้วยทีมกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาต่างๆ และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางในการดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ยาและวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีการแยกพื้นให้บริการสำหรับเด็กแรกเกิดที่มาพบแพทย์และเด็กรับวัคซีน ออกจากเด็กป่วยที่มาพบแพทย์อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ปครองและผู้ป่วยเด็กได้รับบริการภายใต้มาตรฐานคุณภาพอย่างดีสูงสุด
นพ.ฐิติชัย เชิงฉลาด
กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.nonthavej.co.th/congenital-heart-disease.php