ธุรกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเป็นระบบการค้าเสรี ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความผันผวนสูง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยทำไมราคาน้ำมันแพง สาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้น้ำมันที่ขยายตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะจาก จีน และอินเดีย ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ความกังวลในเรื่องปัญหาการเมืองและความวุ่นวายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม โอเปก และส่วนหนึ่งมาจากการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกินราคาปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปัจจุบันควรจะอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญ สหรัฐ/บาร์เรล (ราคา ณ เดือนพฤษภาคม 2551)
ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่เราซื้อจากสถานีบริการ มีโครงสร้างของราคาประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1) ค่าต้นทุนในการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น หรือนำเข้าจากต่างประเทศ
2) เงินภาษีและกองทุนที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
3) ค่าการตลาด ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เช่น ค่าจ้าง แรงงาน ค่าขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นผ่านคลังน้ำมันไปยังสถานีบริการนํ้ามัน ค่าสารปรับปรุงคุณภาพ ค่าส่งเสริมการตลาด และค่าผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจ ค่าการตลาดที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจควรจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันดีเซลมีค่าการตลาดติดลบ
หมายเหตุ : ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศและราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดย ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ยอดรวมภาษี และเงินกองทุนต่างๆ สำหรับน้ำมันเบนซินสูงถึง 10.88 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลประมาณ 5 บาทต่อลิตร
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.รู้จริงพลังงานไทย.com/น้ำมันแพง-2/