เราก็เคยเองก็มีอาการอย่างนี้เหมือนกันค่ะ ตอนสมัยเรียน นอนดึกแล้วก็ชอบกินตอนดึกๆ กินแล้วก็นอน ตื่นสายด้วย ทานอาหารไม่ตรงเวลา ก็จะมีอาการ จุกๆแน่นๆที่หน้าอก แสบๆร้อนๆ อยากจะอาเจียน ก็จะไปหายาทานค่ะ ยาที่เราทานคือ กาวิสคอน แบบน้ำ น่ะค่ะ มันก็ช่วยบรรเทาให้หายไปเป็นครั้งๆคราว แต่ก็ไม่หายขาด เพราะยังไม่ได้ไปแก้ที่สาเหตุของการเป็น
ตอนที่เป็น เราก็ไม่ค่อยได้สนใจกับอาการที่เป็นเท่าไหร่ เพราะคิดว่า มันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร
แต่มีพี่ที่ทำงานบอกว่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เป็นมะเร็งได้ :eek: โอ้ ไม่นะ
หลังจากที่ได้ไปหาข้อมูลดู พอเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการกินของตัวเอง เดี๋ยวก็จะเริ่มดีขึ้นค่ะ จนตอนนี้(2-3ปีมาแล้ว) ก็ไม่มีอาการอีกแล้วค่ะ
อันนี้เป็นบทความ เอามาฝากเพื่อนๆค่ะ เกี่ยวกับสาเหตุและการรักษา เำพิ่มเติมจากของคุณiDnOuSe4ค่ะ
*****************************************************
[SIZE="3"]
โรคกรดไหลย้อน หมายถึง ภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด
(ประกอบด้วย กรดเกลือ หรือกรดไฮโดรคลอลิก)
ไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ
ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ต้องคอยกินยาโรคกระเพาะบรรเทาอยู่เรื่อยๆ
โรคนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนอายุมากกว่า 40 ปี ผู้เขียนเองก็มีโรคนี้ประจำตัวมาหลายปี มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาตัวเองจนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างดี จึงขอนำความรู้มาทบทวนอีกครั้งในฉบับนี้ (คอลัมน์นี้เคยนำเสนอโรคนี้มาครั้งหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า " เกิร์ด-โรคน้ำย่อยไหลกลับ " ในหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2547)
[SIZE="4"]สาเหตุ
เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร
(lower esophageal sphincter, LES) ในคนปกติขณะกลืนอาหารหูรูดนี้จะคลายตัว
เพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้วหูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรดเกลือ) ที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร
แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน พบว่ากล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอด อาหารนี้หย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ (คนทั่วไปหลังกินข้าวอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอด อาหารได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (โรคนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด
พบว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับความอ้วน ภาวะตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน และโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม
นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยกระตุ้น ให้โรคกำเริบ ที่สำคัญ ได้แก่
o การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก)กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น
o การนอนราบ (โดยเฉพาะภายใน 2 ชั่วโมงหลังกินอาหาร) การนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
o การรัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว จะเพิ่ม แรงดันในกระเพาะอาหารทำให้น้ำย่อยไหลย้อน
o การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย
o การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
o การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น
o โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน
o แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้
[SIZE="4"]อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบตรงลิ้นปี่หรือยอดอก หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์และอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 2 ชั่วโมง
บางรายอาจมีอาการปวดแสบร้าวจากยอดอกขึ้นไปถึงคอหอย (คล้ายอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) หรือมีอาการจุกแน่นยอดอก (คล้ายอาหารไม่ย่อย) หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ เรอบ่อย หรือมีก้อนจุกที่คอหอย
บางรายอาจมีอาการขย้อนหรือเรอเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยว (เรอเปรี้ยว) ขึ้นไปที่คอหอย หรือรู้สึกมีรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในปากหรือคอ หรือหายใจมีกลิ่น
บางรายอาจไม่มีอาการแสบท้องหรือ เรอเปรี้ยว แต่มีอาการไอแห้งๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหาร หรืออยู่ในท่านอนราบ) กลืนลำบาก หรือเจ็บหน้าอกเวลากลืน
บางรายตอนตื่นนอนอาจรู้สึกขมคอ เปรี้ยวปาก อาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ แสบลิ้น หรือไอ (เนื่องจากกลางคืนนอนหมอนใบเดียว มีการไหลย้อนของน้ำย่อยไประคายที่คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม) ซึ่งจะเป็นเรื้อรังเป็นแรมเดือน ผู้ป่วยมักจะไปปรึกษาแพทย์ทางโรคหู-คอ-จมูก ซึ่งจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
[SIZE="4"]การแยกโรค
อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก หรือเรอเปรี้ยวอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
o โรคแผลเพ็ปติก (แผลกระเพาะอาหารหรือแผลลำไส้เล็กส่วนต้น) ผู้ป่วยจะมีอาการแสบใต้ลิ้นปี่เวลาหิว (ก่อนมื้ออาหาร) หรือจุกแน่นหลังอาหาร อาจมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย
o มะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการคล้าย โรคแผลเพ็ปติก แต่ต่อมาจะมีอาการอาเจียน น้ำหนักลด หรือถ่ายอุจจาระดำ
o โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ แล้วปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หรือต้นแขน ติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงๆถึงเป็นวันๆ มักรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือหน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย
อาการเจ็บคอ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ วัณโรคปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด เป็นต้น
[SIZE="4"]การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง ได้แก่ อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก และเรอเปรี้ยวหลังกินอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น หรือมีพฤติกรรมที่เป็นเหตุกำเริบ
ในรายที่ไม่แน่ชัดอาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น เอกซเรย์ทางเดินอาหารโดยการกลืนแป้งแบเรียม หรือใช้กล้องส่องตรวจหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถแยกโรคกรดไหลย้อนจากโรคแผลเพ็ปติก มะเร็งกระเพาะอาหาร และสาเหตุอื่นๆ ได้
[SIZE="4"]การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีอาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก หรือเรอเปรี้ยว อาจรักษาเบื้องต้นโดยกินยาต้านกรดชนิดน้ำ (antacid) ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง และสังเกตว่ามีเหตุกำเริบจากอาหารหรือพฤติกรรมใด ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย
ควรพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะผิดปกติข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
o มีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หรือต้นแขน
o มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาเจียน ซีด ตาเหลือง ถ่ายอุจจาระดำ หรือน้ำหนักลด
o อายุมากกว่า 40 ปี
o กินยาต้านกรด 1 สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลาดี หรือกำเริบซ้ำหลังหยุดยา
o มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการดูแลตนเอง
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคกรดไหลย้อนก็ควรปฏิบัติตัว ดังนี้
o กินยาให้ครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
o ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
o สังเกตว่าบริโภคสิ่งใดบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน (รวมทั้งข้าวผัด ของทอด ของผัดที่อมน้ำมัน) อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม แอลกอฮอล์ บุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ช็อกโกแลต ยาบางชนิด
o หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก (หรืออิ่มจัด) และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณ น้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
o หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบหรือนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง ยืน หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายหลังอาหารใหม่ๆ
o หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เนื่องเพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ทำให้อาการกำเริบได้
o ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า มีอาการเจ็บคอ เจ็บลิ้น เสียงแหบ ไอ ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ (bed wedge pillow) สอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหนุนหมอนหลายใบให้สูง เพราะอาจทำให้ท้องโค้งงอ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ดันให้น้ำย่อยไหลย้อนได้
[SIZE="4"]การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาด้วยการแนะนำข้อปฏิบัติตัวดังกล่าว และให้ยารักษาซึ่งอาจเป็นขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้
o ให้ยาต้านกรดชนิดน้ำ (antacid) ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร วันละ 4 ครั้ง ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช-2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (ranitidine) ขนาด 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด บางกรณีแพทย์อาจให้ยาเพิ่มการขับเคลื่อนของทางเดินอาหาร เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ร่วมด้วย
o ให้ยาลดการสร้างกรดอย่างแรง ได้แก่ กลุ่มต้านโพรตอนปั๊มป์ (proton-pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole) ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง
โดยครั้งแรกที่เริ่มให้การรักษา จะให้ยาติดต่อกันนาน 4-8 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมากหรือมีอาการมานานก็อาจให้นาน 3-6 เดือนหลังจากหยุดยาถ้าหากผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เช่น มีพฤติกรรมหรือกินอาหารที่กระตุ้นให้อาการกำเริบก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยรีบกินยา (ขนานที่เคยใช้ได้ผล) ทันทีที่รู้สึกมีอาการ อย่าปล่อยให้เป็นอยู่นานหลายวัน อาจกินเพียง 3-5 วันก็พอ แต่ถ้ายังกำเริบอยู่บ่อยหรือปล่อยให้มีอาการอยู่นานหลายวัน ก็อาจจำเป็นต้องกินนานเท่าครั้งแรก
ผู้ป่วยจำเป็นต้องปฏิบัติตัวในการป้องกันไม่ให้โรคกำเริบอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้ปลอดจากอาการและภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าอาการกำเริบก็ต้องกินยารักษาเป็นครั้งคราวไปเรื่อยๆ
ในรายที่กินยาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อนก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหูรูดด้วยวิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง (laparoscopic fundoplication) หรือวิธีอื่นๆ (ซึ่งมีการวิจัยอยู่หลายวิธี)
[SIZE="4"]ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังนานๆ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ที่พบบ่อยก็คือ หลอดอาหารอักเสบ (esophagitis) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกเวลากลืนอาหาร หากไม่ได้รับการรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นแผลหลอดอาหาร (esophageal ulcer) ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำในที่สุดอาจเกิดภาวะหลอดอาหารตีบ (esophageal stricture) ผู้ป่วยจะมีอาการกลืนอาหารลำบาก อาเจียนบ่อย จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือถ่างหลอดอาหารเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารจนกลายเป็น หลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barretts esophagus) ซึ่งสามารถวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องลงไปที่หลอดอาหารและนำชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งหลอดอาหารประมาณร้อยละ 2-5 ซึ่งจะมีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย น้ำหนักลด
ในรายที่มีกรดไหลย้อนถึงคอหอยและหลอดลมก็อาจทำให้กลายเป็นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ (เจ็บคอ ไอเรื้อรัง) กล่องเสียงอักเสบ (เสียงแหบ ตรวจพบสายเสียงบวมแดง) โรคหืดกำเริบบ่อย เนื่องจากน้ำย่อยไหลเข้าไประคายเคืองต่อหลอดลม
ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ จากการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด (aspiration pneumonia) ซึ่งพบบ่อยในทารกอายุ 1-4 เดือน นอกจากนี้ โรคนี้ยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง และผิวฟันกร่อนจากการกัดของน้ำย่อยเป็นเวลานาน
[SIZE="4"]การดำเนินโรค
ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ และอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้โรคทุเลาหรือหายดี แต่หลังหยุดยาอาจกำเริบได้เป็นครั้งคราวก็ต้องคอยกินยาเป็นครั้งคราวตามอาการที่กำเริบ (สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการก็อาจหายไปได้เอง)
แต่ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่กินยา ไม่ยอมปฏิบัติตัวก็มักจะเป็นรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
[SIZE="4"]การป้องกัน
ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จำเป็นต้องคอยป้องกันไม่ให้โรคกำเริบด้วยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ดูหัวข้อ "การดูแลตนเอง")
[SIZE="4"]ความชุก
โรคนี้พบได้บ่อย นับเป็นสาเหตุอันดับแรกๆ ของผู้ที่มีอาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ที่มีอาการดังกล่าว พบมากใน คนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็กเล็กและคนหนุ่มสาวได้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า
*****************************************************
ขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก
http://www.doctor.or.th/article/detail/7611
http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=614
http://www.vejthani.com/web-thailand/GERD.php