หลักการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์
โดย PREZZO
PREZZO
#1
ปกติคนไทยทั่วไป มักเป็นชาวพุทธโดยกำเนิด ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ผู้อยู่ครองเรือน มีฐานะเป็นอุบาสกและอุบาสิกา ซึ่งมีหน้าที่คอยช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาศาสนาไว้ให้ดำรงอยู่ และให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระสงฆ์ได้จดจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ พระพุทธศาสนาจึงดำรงอยู่ได้ตลอดจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระสงฆ์ทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธสาวก ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เหล่าชาวพุทธทั้งหลายพากันจัดถวาย ตราบใดที่ชาวพุทธยังบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ก็ยังสามารถศึกษาเล่าเรียนรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตราบนั้น และเมื่อใดชาวพุทธเลิกบริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ เมื่อนั้นพระสงฆ์ก็ย่อมดำรงชีพอยู่ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็จะอันตรธานเสื่อมสูญไปอย่างแน่นอน


การทำบุญใส่บาตรประจำวัน

การที่ชาวพุทธทั้งหลายช่วยกันบริจาคปัจจัยอุปถัมภ์บำรุงด้วยการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ในตอนเช้าของทุกๆ วัน นับได้ว่าเป็นหนึ่งที่ได้ช่วยกันสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ และให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

การใส่บาตรประจำวัน นับเป็นวิธีการสร้างบุญวาสนาบารมีอันจะเป็นบุพเพกกตปุญญตาสำหรับตนต่อไปอนาคตโดยตรง และเป็นผลดีที่ได้ช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนาโดยอ้อม

ปกติการใส่บาตรประจำวันนิยมทำตามกำลังศรัทธา และตามความสามารถแห่งกำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ อาทิ อาจจะใส่บาตรวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง หรือ ๓ รูปบ้าง


ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์

การทำบุญในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลานิสงส์มาก อาทิ การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ (ในตอนเช้า) ประกอบด้วย องค์คุณ 3 ประการ คือ

๑. ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์

๒. เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์

๓. พระภิกษุสามเณรเป็นผู้บริสุทธิ์


ปัจจัยสิ่งของสำหรับทำบุญบริสุทธิ์
หมายถึงที่มาแห่งปัจจัยนั้นๆ หรือวัตถุสิ่งของที่นำมาทำบุญนั้น ต้องได้มาโดยชอบ ดังมีลักษณะดังนี้

๑. เงินที่นำมาใช้จ่าย ซื้อหาวัตถุสิ่งของเหล่านั้น ต้องเป็นเงินที่ได้มาด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ เกิดจากหยาดเหงื่อและแรงงานของตนโดยตรง

๒. ของที่นำมาทำบุญนั้นเป็นของบริสุทธิ์ กล่าวคือไม่ได้เบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์อื่นๆ อาทิ ฆ่าสัตว์มาทำบุญ ขโมยข้าวของมาทำบุญ ฯลฯ

๓. สิ่งของที่นำมาทำบุญนั้น ต้องเป็นของที่มีคุณภาพดี และเป็นส่วนที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งของที่มีอยู่ อาทิ ข้าวสุกที่จะนำมาใส่บาตรนั้นควรเป็นข้าวปากหม้อ แกงก็เป็นแกงถ้วยแรกที่ตักออกจากหม้อ ฯลฯ

๔. วัตถุสิ่งของนั้น ควรแก่สมณบริโภค ไม่เกิดโทษแก่พระภิกษุสามเณร และมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ


เจตนาของผู้ถวายบริสุทธิ์
เจตนา หมายถึง ความจงใจหรือความตั้งใจของผู้ทำบุญนั้นต้องบริสุทธิ์ในเวลาทั้ง ๔ กล่าวคือ

๑. ปุพพเจตนา หมายถึง ความตั้งใจก่อนจะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เสียดมเสียดาย

๒. มุญจนเจตนา หมายถึง ความตั้งใจขณะทำบุญ มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปลื้มปีติในการทำบุญ

๓. อปรเจตนา หมายถึง ความตั้งใจภายหลังการทำบุญไปแล้วภายใน ๗ วัน ได้ระลึกถึงการทำบุญที่ล่วงมาแล้ว มีปลี้มโสมนัสในบุญกุศลนั้นอย่างไม่เสียดาย

๔. อปราปรเจตนา หมายถึง ความตั้งใจภายหลังการทำบุญไปแล้วเกิน ๗ วันไปแล้ว แม้จะเป็นเวลาเนิ่นนาน เมื่อหวนระลึกนึกถึงการทำบุญครั้งใด ก็ปลาบปลื้มยินดี


ผลานิสงฆ์เจตนาบริสุทธิ์
คนที่ทำบุญด้วยเจตนาหรือความตั้งใจบริสุทธิ์ทั้ง ๔ เวลาดังกล่าวนี้ ต่อไปในอนาคต เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ย่อมมีความสุขความเจริญ ตั้งแต่เกิดตลอดจนสิ้นอายุขัยในภาพและชาตินั้นๆ


โทษของเจตนาไม่บริสุทธิ์

มี ๔ กรณีดังนี้

๑. ถ้าปุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนจะทำบุญไม่บริสุทธิ์ เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ระยะแรกของชีวิต ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ ๒๕ ปี จะมีแต่ความทุกข์ยากลำบากลำเค็ญหาความสุขได้ยาก แต่จะเริ่มมีความสุขความเจริญตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี เป็นต้นไปจนตลอดอายุขัย

๒. ถ้ามุญจนเจตนา ความตั้งใจขณะทำบุญไม่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดความทุกข์ยากลำเค็ญตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี จนถึงอายุ ๕๐ ปี และเริ่มมีความสุขตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไป จนถึงตลอดอายุขัย

๓. ถ้าอปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์กล่าวคือ นึกเสียดายข้าวของที่ทำบุญไป จะทำให้เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนตั้งแต่อายุ ๕๑ ปี เป็นต้นไปจนถึงอายุ ๗๕ ปี หลังจากนั้นจึงจะมีความสุขตลอดอายุขัย

๔. ถ้าอปราปรเจตนา ไม่บริสุทธิ์ จะทำให้เกิดความทุกข์ยาก เดือนร้อนตั้งแต่อายุ ๗๖ ปี เป็นต้นไป จนกระทั่งสิ้นอายุขัย


ในกรณีคนที่ทำบุญให้ทานแล้ว กลับมานึกเสียดายในภายหลัง คือ อปรเจตนาและอปราปรเจตนาไม่บริสุทธิ์ เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ แม้จะเกิดเป็นคนร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่จะเป็นเศรษฐีขี้เหนียว เนื่องจากโทษที่เกิดจากการทำบุญให้ทานแล้วนึกเสียดายในภายหลัง




การใส่บาตรพระภิกษุ

1. ขอให้ดูรูปมืออาชีพเป็นตัวอย่าง คุณยายสามารถกราบพระภิกษุขณะมาแต่ไกล ใส่แบบมีสติ ที่คุณยายใสคือข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ ใส่ด้วยสติ ไม่มีผิดพลาดหรือตกหล่น
การใส่บาตรใส่แบบไม่เจาะจง ไม่ว่าพระเณรรูปใดเดินมาก็จะใส่ไปตามลำดับ การใส่บาตรแบบไม่เจาะจง พระพุทธองค์สรรเสริญว่ามีอานิสงส์มาก

2. การใส่บาตรด้วยสตินั้น ให้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอแบบธรรมชาติของความจริงว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้สำรวมระวังในอิริยาบทเช่นนั้น
ถือขันข้าวยกมือทั้งสองจบที่หน้าผากแล้วอธิษฐานในใจ เมื่อเห็นพระภิกษุมาใกล้จะถึงให้พึงอธิษฐานเพื่อให้จิตจดจำการกระทำทางกายวาจาใจเอาไว้ว่า

"สุทินนัง วตะ เม ทานัง อาสวะขะยาวะหังโหตุ ขอทานของเราที่ให้ดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ้งการสิ้นไปแห่งกิเลสด้วยเถิด"

การอธิษฐานเป็นการเตือนสติ เป็นการสำรวม มารยาทเพื่อสอดส่องใจตนเองว่า การให้ทานที่เป็นการสละออกอย่างแท้จริงนั้น ใจยังมีกิเลสในการให้หรือไม่

3. จะนั่งหรือจะยืนก็แล้วแต่สะดวก แต่ควรถอดรองเท้าเสียก่อน เพราะการใส่รองเท้าถือว่ายืนสูงกว่าท่าน(เว้นจะเจ็บเท้านั่นอนุโลมนะครับ)
บางคนถอดรองเท้าแต่กลัวเจ็บเท้าเพราะหาทำเลผิดที่ เต็มไปด้วยเม็ดกรวด เม็ดหิน ก็เลยขอยืนบนรองเท้า ตรงนี้ขอบอกว่า ยิ่งยืนสูงกว่าพระท่านเสียอีก
ในกรณีพิธีการต่างๆ ที่ไม่สะดวกในการถอดรองเท้า ถ้าไม่ประสงค์ที่จะถอดก็จะจัดให้พระสงฆ์ท่านยืนสูงกว่า ก็ไม่ผิดมารยาทของชาวพุทธแต่อย่างใด

4. ข้าวร้อนๆมาจากหม้อ ชาวพุทธนี่คือ กลัวว่าหลังจากตนเองเสียชีวิต จะไม่มีข้าวร้อนรัปประทาน ก็ขอเล่นเอาจากหม้อร้อนๆ ตักมาสดๆใส่บาตร โดยไม่คำนึงไปถึงว่าบาตรนั้นเป็นฉันใด
พระท่านต่อมาจึงต้องมาทำที่หุ้มบาตรหนาๆเข้าไว้ เพราะโยมเล่นของร้อนแรง ที่สำคัญเวลาเด็กใส่บาตร ข้าวร้อนๆแทนที่จะใส่ไปในบาตร กลับกระเด็นมาตกใส่มือท่านบ้าง แขนท่านบ้าง
ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลและคอยจับและสอนมารยาทอันดีงามให้แก้เจ้าพวกจอมซนตั้งแต่วัยเยาว์เสียด้วย



กรุณาดูบาตรของพระคุณเจ้าและของเณรด้วยว่า ท่านได้ทำที่ห่อหุ้มมาด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เช่นดังรูป
ไม่ควรใส่ของร้อนๆ จะทำให้ท่านทรมานนิ้วและอาจทำให้เกิดการทำบาตรตกหล่นได้ เพราะบาตรจะร้อนมาก

5. บาตรนะ ไม่ใช่หม้อหุงข้าว โยมบางคนเวลาตักบาตร ข้าวติดทัพพี ก็เล่นเอาทัพพีเคาะขอบบาตร โป๊กๆ รูดเข้าไป นี่ถ้าไปเจอเอาบาตรดินก็เรียบร้อย บาตรแตกเป็นแน่
มารยาทในการใส่บาตรจึงไม่ควรเคาะบาตรท่าน เอาข้าวรูดในบาตรให้หลุดออกจากกัน เป็นกริยามารยาทที่ไม่ควรกระทำ

6. สิ่งที่เห็นประจำคือการทักทายพระคุณเจ้าในยามเช้า เวลาที่พระสงฆ์ท่านเดินในอาการสำรวมนั้น ท่านจะดูที่พื้น ไม่หันซ้ายหันขวา ชมวิวทิวทัศน์ ไม่มองไกล
เพื่อสำรวมระวัง ไม่ให้ไปเหยียบสิ่งที่ไม่ควรเหยียบ เพื่อให้มีสติรู้ ในอิริยาบท ไม่เผลอ ไม่หลง กริยาอาการของท่านที่สำรวมจึงดูงดงามเป็นอย่างยิ่ง

แต่ญาติโยมแทนที่จะสนทนากับท่านที่วัด ก็เล่นทักทายกันเหมือนคนรู้จัก ตรงนี้บางท่านจะถามว่า
"พระคุณเจ้าชอบทานอะไร พอฉันไหม อยากทานอะไรบ้าง"
ขอบอกว่าถ้าท่านพูดออกมาว่าอยากอะไร ผิดพระวินัยทันทีต้องอาบัติ ไปทำให้ท่านต้องไปปลงแก้เสียอีก ไปสร้างกรรมเวรให้ท่านและเราไม่รู้ตัว

"ตักบาตรจึงอย่าถามพระ"

7. ในกรณีกับข้าวบางชนิดไม่ควรมีเหล้าผสม เช่นอาหารจีนบางชนิดที่ต้องใส่เหล้าขาว หรืออาการหมักดองบางชนิด เช่น ข้าวหมัก ข้าวดอง ที่มีกลิ่นเหล้าผสม ผิดพระวินัย

ควรทำเนื้อให้สุกเสียก่อนเรียกว่า "ปวัตตมังสะ" ถวายท่านได้ แต่ปัจจุบันบางท่านชอบกินซูชิ
บางท่านชาวอีสานชอบกินลาบเลือด การถวายเนื้อสัตว์ที่มิได้สุกด้วยไฟ ปลาดิบ เนื้อดิบ พระพุทธองค์ทรงห้าม

กรณีที่มีผลไม้ บางท่านที่รู้จักพระวินัยสงฆ์อยู่บ้าง ก็จะทำการปอกเพื่อเอาเมล็ด และผลออกเสียก่อน เป็นการทำให้เป็น "กัปปิยะ"
แต่กรณีที่ไม่รู้แล้วถวายพระท่านอาจไม่ฉัน นอกเสียจากว่า คฤหัส สามเณร ชี มาทำให้เป็น "กัปปิยะ" เสียก่อนจึงฉันได้
ดังนั้นเราควรปอกให้ท่านเอาไว้ เพราะถ้าไม่มีใครดูแลให้ท่าน ท่านจะฉันไม่ได้เลย ผิดพระวินัย เพราะว่า เมล็ดและผลสามารถไปปลูกเป็นต้นได้

เราจึงควรปอกและใส่ถุงเอาไว้ถวายไปพร้อมกับอาหารคาวหวานด้วยประการเช่นนี้ครับ

8. บางท่านที่นิยมถวายดอกไม้ก็ควรดูด้วยว่า ท่านมีย่ามหรือมีคนดูแลท่านมาหรือไม่เช่นเด็กวัด เพราะถ้าไม่มีคนตามและท่านถือบาตรมาอย่างเดียวดังรูป ก็จะยิ่งทำให้ท่านถือบาตรยากยิ่งขึ้น
กรณีธูปเทียนดอกไม้ ท่านที่เป็นชายถวายที่มือท่านได้เลย กรณีเป็นคุณผู้หญิงเมื่อท่านผิดฝาบาตรรับข้าวปลาอาหารแล้ว ให้วางบนฝาบาตรท่าน

สิ่งที่แนะนำคือ ให้ดูความพร้อมของท่านเสมอ สายพระป่าบ้านนอก ท่านจะไม่มีย่ามมาด้วย ไม่มีถังหรือผู้ติดตามเราไม่ควรสร้างภาระให้ท่านมากขึ้น
เพราะการถือดอกไม้ ธูปเทียน อีกมือ ถือบาตร อาจจะทำให้ท่านต้องลำบากมากยิ่งขึ้น

กรณีที่ติดตัวนำมาแล้ว พระท่านรับรู้แล้ว จิตที่รับรู้ัทั้งสองฝ่ายต่างก็มีบุญแห่งกริยาแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่สมควรใส่ให้ท่านก็นำกลับบ้านไปบูชาหิ้งพระเพื่อเป็นมงคลที่บ้านก็ย่อมได้
อย่าติดที่วัตถุทานแล้วทำให้ท่านต้องลำบากนะครับ

9 . เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วให้ตั้งอธิษฐานเพื่อเตือนสติแก่ตนเสมอว่า
"นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะ วัชเชนะ โหตุ สัพพะทา
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐแก่ข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัจนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพึงเจริญ ในพระศาสนาของพระศาสดา"
การอธิษฐานเป็นเครื่องเตือนสติ ไม่ให้เราไปหลงในสิ่งที่เป็นทางแห่งกิเลสที่มัวหมอง เท่ากับเป็นการสำรวจกาย วาจา ใจ ที่เรายังมั่นคงต่อพระสงฆ์สืบไป

10. เรื่องเงินใส่บาตร ใส่ย่าม พระท่านรับไม่ได้ ผิดพระวินัย ปัจจุบัน โยมใส่กันด้วยเพราะไม่เข้าใจ
แม้แต่การทำพิธีทางศาสนาที่ใดก็ตาม กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปซะแล้ว ซึ่งการที่เราใส่เงิน ถวายเงิน ถ้าเราดูแล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไร ดูเหมือนเล็กน้อยและจำเป็นแก่ท่าน

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมองการไกลก็คือเรื่องเงิน เรามามองดูเรื่องเงินในปัจจุบัน
พระที่ปลอมเข้ามาแสวงหาเงิน ลาภยศ ชื่อเสียงเงินทอง ก็เริ่มมาจากการไม่เข้าใจของญาติโยมนี่เอง กลายเป็นประเพณีปฏิบัติเหมือนไม่มีอะไรผิดเลย

เรามามองความจริงเหตุที่ทำให้ศาสนามัวหมองลงก็เนื่องมาจากเงินทั้งสิ้น พวกเราเองที่ไม่รักษาพระวินัยให้แก่พระภิกษุสงฆ์
เราเอาศรัทธาที่เต็มไปด้วยกิเลส หวังเอาไว้เพื่อความร่ำรวย มีเงินในภพหน้า ก็กระหน่ำซัมเมอร์เซลถวายเงินแบบไม่ต้องกลัวผิดพระวินัยอีกต่อไป
เงินนี่เองที่เป็นให้เหตุพระศาสนาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีช่องว่างให้บุคคลที่ปลอมมาบวช หรือบวขแสวงหาลาภ เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย

สิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยจริงๆมันเป็นเรื่องใหญ่แบบไม่น่าให้อภัย
พระที่ไม่สะสมก็มีเงินฝาก มีบัตรเครดิต พระที่ไม่โลภก็แสวงหายศศักดิ์ ตำแหน่ง มีการซื้อ ยศตำแหน่ง สะสมรถยนต์ เครื่องเสียง แอร์ ทีวี มือถือ กล้อง
ทุกสิ่งที่โยมมีพระมีดีกว่าเสียอีก นี่ก็เพราะเรื่องเงินที่เราไม่ระวังกันตั้งแต่เบื้องต้น

สายพระป่า ที่ท่านเคร่งในพระวินัยจะไม่รับเงินหรือซองมาใส่บาตรท่านเด็ดขาด เรียกว่าปิดบาตรไม่รับ จนโยมที่ไม่เข้าใจเกิดตั้งข้อรังเกียจก็มี
จริงๆท่านป้องกันโยมต่างหาก เพราะโยมกำลังทำลายพระศาสนาแบบเข้าใจผิดนี่เอง

เราจึงควรเข้าใจในเรื่องการถวายเงินในหัวข้อหลักใหญ่เสียด้วย

ศาสนาพุทธในเมืองไทยขณะนี้ ถ้าตัดคำว่าเงินออกไปแค่นั้น
ความจริงจะปรากฏคือ พระแท้ พระปลอมที่ไม่มีศรัทธาจะหายไปหมด ก็เพราะมีแต่ข้าวกิน ไม่มีเงินใช้ ไม่มีของสะสม

การใส่เงินให้ท่าน ใส่ที่บาตร หรือย่าม จึงไม่ควรกระทำ
ถ้าจะให้ควรให้แก่มัคคทายกวัด หรือผู้ดูแลท่านโดยทำใบปวารณาเขียนข้อความเป็นตัวเงินเอาไว้ และนำเงินไปฝากให้ผู้ดูแล เผื่อการเจ็บไข้ เผื่อการเดินทางที่จำเป็น

(ข้าพเจ้าบอกได้เลยว่า เงินตัวเดียวจริงๆที่ทำให้พุทธศาสนามัวหมองเพราะมีการสะสม มีความโลภในสถานที่อันเป็นมงคล)
2kcartoon
#2
เคยใส่บาตรตอนเช้ามืดประมาณตีห้ากว่าๆ จำหน้าพระไม่ค่อยได้เพราะมืด

วันนั้นเป็นวันดีเลยกะว่าจะใส่บาตร 9 องค์ ใส่ไปเรื่อย พระไม่ได้มาเป็นแถว มาจากซอยอื่นๆ บ้าง

เราก้อจำได้บ้างไม่ได้บ้างว่าองค์ไหนใส่แล้ว และจะใส่องค์สุดท้าย พระท่านบอกว่า อาตมาได้แล้วโยม แป่ว เพิ่งรู้ว่าใส่บาตรพระซ้อนกัน 2 ครั้งไม่ได้
noinoi5
#3
ขอบคุณคุณ PREZZO นะคะ...จัดมาให้ตามคำเรียกร้อง..

ตอนนี้เข้าใจแล้ว...ต่อไปก็จะระมัดระวังในการใส่บาตรให้มากขึ้น

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ.....ไม่ผิดหวังจริงๆที่ได้เข้ามาอ่านกระทู้คุณPREZZO
TEDDY07
#4
ขอบคุณมากๆจ๊ะ :D
peechompoo
#5
ขอ FW ไปให้เพื่อน ๆ ค่ะ
เพราะตอนนี้ถกเถียงกันมา คือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพิ่งบวชพระน้องชายไป
เราก็พยายามห้ามทุกคนแล้วว่า อย่าใส่เงินในย่ามพระ เค้าก็ไม่เชื่อกัน
เพราะ เชื่อว่าการทำบุญกับพระที่เพิ่งบวชใหม่ ตอนกำลังเดินออกจากประตูโบสถ์ จะได้บุญมาก เพราะพระใหม่ท่านยังไม่ผิดศีลข้อใดเลย
ขนาดห้ามอย่างจริงจัง ตอนเย็นได้สนทนากับพระ ท่านบอกว่าเงินในย่ามได้มา 9500.- บาท
อาตมาเลยร่วมทำบุญ ซ่อมแซมวัดไป 9000.- เก็บไว้ 500 ไว้ใช้เพื่อฉุกเฉิน สาธุ
mamee
#6
ขอบคุณมากค่ะ ตัวเองหลงใส่เงินด้วยตั้งหลายครั้ง ต่อไปจะได้จำเอาไว้ค่ะ:)
redhot
#7
ขอบคุณมากนะคะ ที่นำสาระดีๆมาแบ่งปัน
huahorm
#8
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ :)
wnonach
#9
[SIZE="3"]ขอบคุณมากค่ะ ทำไปหลายครั้งแล้วด้วย ไม่รู้จริงๆค่ะ ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันกันนะคะ :D
story2lady
#10
ปกติเห็น ญาติโยมคนอื่นใส่ ของกินเยอะแล้ว กลัวท่านจะฉันไม่ไหว เลยใส่ปัจจัยมาตลอดเลย เพราะคิดว่าท่านจะได้ไปซื้อข้าวของที่ท่านพอใจดีกว่า ขอบคุณมากๆนะคะที่นำมาแบ่งปันกัน
ดูกระทู้ทั้งหมดในชุมชน จาก  Downtown ดูกระทู้ในหมวด ดูกระทู้ในหมวดย่อย
กระทู้แนะนำจากการคัดเลือกอัตโนมัติ
1
2
3