สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกน้อยวัยกำลังเริ่มเรียนหนังสือ รู้หรือไม่? นอกจากจะเตรียมหนังสือ ตลอดจนเนื้อหาสาระให้เหมาะกับอายุและพัฒนาการของลูกแล้ว การเลือกโต๊ะเขียนหนังสือให้กับลูกเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยจัดการพื้นที่ให้ลูกน้อยได้อย่างเป็นระเบียบ และสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น แต่การเลือกโต๊ะเขียนหนังสือที่เหมาะกับลูกยังช่วยรักษาสุขภาพในระยะยาวของลูกที่จะช่วยเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีสะดุดอีกด้วย เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองคนไหนกำลังตามหาโต๊ะอ่านหนังสือเล็ก ๆ เพื่อให้ลูกน้อยไว้ใช้เรียนหนังสือได้อย่างสะดวก ไม่ขัดขวางพัฒนาการ แถมยังปลอดภัยต่อสุขภาพล่ะก็ วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 วิธีเลือกโต๊ะเขียนหนังสืออย่างถูกต้องที่จะช่วยตอบโจทย์ผู้ปกครองและลูกน้อยได้เป็นอย่างดี จะมีอะไรบ้าง มาดูพร้อมกันเลย!
ดูจากความสูงก่อน
การเลือกโต๊ะเขียนหนังสือที่เหมาะสมกับลูกน้อยควรพิจารณาถึงความสูงโต๊ะเป็นลำดับแรก โดยความสูงของโต๊ะนั้นควรมีความสูงประมาณ 75 - 80 เซนติเมตรเพื่อให้ลูกน้อยสามารถนั่งหลังตรงในการใช้งานโต๊ะได้ แต่อย่างไรก็ดี หากลูกมีขนาดตัวที่ยังเล็กอยู่ ผู้ปกครองควรเลือกโต๊ะที่สามารถปรับระดับได้แทนการเลือกโต๊ะญี่ปุ่นเล็ก ๆ เพราะไม่เพียงแต่จะใช้งานได้ยาวนานเท่านั้น แต่โต๊ะญี่ปุ่นนั้นทำให้เด็กต้องก้มเป็นเวลานาน ๆ จนอาจทำให้มีแรงกดทับที่คอ บ่า ไหล่ และหลังได้ในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น อย่าลืมมองหาโต๊ะเขียนหนังสือที่มีความสูงเหมาะกับลูกด้วยนะ
พยายามเลือกหน้าโต๊ะปิดผิวที่เรียบสนิท
ไม่เพียงแต่จะดูความสูงเท่านั้น แต่โต๊ะเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่ดีควรเป็นโต๊ะที่มีหน้าโต๊ะที่ปิดผิวเรียบเนียนสนิท เพราะหากเป็นโต๊ะที่ไม่มีการปิดผิวที่เรียบร้อย และเจอกับลูกน้อยวัยกำลังซนเข้า ไม่แน่ว่าโต๊ะเรียนตัวใหม่อาจเป็นกระดานสำหรับวาดรูป และปลดปล่อยจินตนาการได้เต็มที่จนทำให้พ่อแม่ทำความสะอาดไม่ไหวก็เป็นได้ ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้ทำความสะอาดง่ายขึ้นเท่านั้น แต่โต๊ะเขียนหนังสือที่มีผิวเรียบเนียนยังช่วยป้องกันลูกน้อยจากการโดนเสี้ยนตำจนเป็นแผล และทำให้ไม่อยากใช้งานโต๊ะตัวนั้นเลยก็เป็นได้
อย่าใช้ของตกแต่งเยอะเกินความจำเป็น
หลายคนอาจมองว่าของตกแต่งอาจช่วยเสริมพัฒนาการของลูกได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การใช้ของตกแต่งที่มากเกินไปบนโต๊ะเขียนหนังสือนั้นจะถือเป็นตัวดึงความสนใจลูกให้ออกจากการเรียนได้ อีกทั้งของตกแต่งที่มากเกินไปยังทำให้ลูกไม่มีพื้นที่ในการเรียนรู้มากเพียงพอ และอาจทำให้ลูกเบื่อหน่ายไปเลยได้ ดังนั้น ควรเลือกของตกแต่งที่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป หรือหากใครกลัวของตกแต่งเป็นอันตราย หรืออาจเกิดอุบัติเหตุกับลูกก็สามารถจัดโต๊ะโล่ง ๆ ให้ลูกได้ใช้สอยได้เช่นกัน
เพียงเท่านี้ คุณผู้ปกครองทุกคนก็สามารถเลือกโต๊ะเขียนหนังสือที่เหมาะกับลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยแล้ว อย่าลืมนำเทคนิคทั้ง 3 วิธีที่นำมาฝากนี้ไปปรับใช้เพื่อเลือกโต๊ะที่เหมาะกับลูกที่สุดด้วยนะ