มีลูกยาก ลองมาแล้วสารพัดวิธีก็ไม่สำเร็จสักที ไปปรึกษาที่ไหนดี?
โดย thidaratt
thidaratt
#1
ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบของใครหลาย ๆ คน คือครอบครัวที่มี พ่อ แม่ ลูก อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มีสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เลี้ยงดูตั้งแต่ลูก ๆ ยังเด็กจนเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ แต่ยังมีคู่สมรสหลาย ๆ คู่ที่มีความพร้อมทุกด้าน ที่ยังรอคอยการมาของลูก เพื่อมาเติมเต็มให้ครอบครัวสมบูรณ์ โรงพยาบาลนครธน มีศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร ที่พร้อม “เติมเต็มความสมบูรณ์ของคำว่าครอบครัว” ให้กับคู่ของคุณ ด้วยบริการดูแลรักษาปัญหาภาวะมีลูกยากแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคู่สมรส โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์และได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พร้อมด้วยเทคนิคการรักษาที่ทันสมัยและหลากหลาย สำหรับคู่สมรสที่กำลังประสบปัญหาการมีลูกยาก ลองมาแล้วสารพัดวิธีก็ไม่สำเร็จสักที หรือยังไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาที่ไหนดี ลองมาปรึกษาทางศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรโรงพยาบาลนครธน เพื่อช่วยคลายทุกข้อสงสัย ปัญหาการมีบุตรยากให้คู่ของคุณสิค่ะ



สำหรับคู่แต่งงานที่มีลูกยาก ลองมาแล้วสารพัดวิธีก็ไม่สำเร็จสักที อาจมีคำถามเกี่ยวกับภาวะการมีลูกยากมากมายว่าจะรักษาอย่างไรดี มีวิธีอะไรบ้าง ถ้าจะนับวันไข่ตกทำอย่างไร จะกินยากระตุ้นไข่เองได้หรือไม่ เมื่อไหร่ถึงต้องใช้การอุ้มบุญ ไปคลายข้อสงสัยเหล่านี้กันได้เลยค่ะ

Q : เมื่อไหร่ถึงต้องไปปรึกษาเรื่องมีลูกยาก?
คำว่ามีลูกยาก คือการที่คู่สามีภรรยาอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 1 ปีแต่ไม่มีบุตร โดยที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอคือประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ดังนั้นคู่สามีภรรยาที่ว่านี้ควรปรึกษาเรื่องการมีบุตร แต่ก็มีหลายกรณีที่อาจจำเป็นต้องรีบมาปรึกษาหรือทำการรักษาเช่น คู่ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ฝ่ายหญิงอาจมีโรคประจำตัว ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดประจำเดือนมาก เหล่านี้ก็น่าสงสัยจะเป็นกลุ่มที่มีบุตรยากโดยไม่ต้องรอให้ครบหนึ่งปี หรือบางครั้งจะมีการตรวจเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรโดยการคัดกรองเบื้องต้น หาสาเหตุของฝ่ายชายและหญิงก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตรได้

Q : คนที่มีลูกยากต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเพิ่มความสำเร็จในการมีลูก?
ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยทั่วไปคู่สมรสควรรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเหล้าและบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างเหมาะสม

Q : มีวิธีนับวันไข่ตกอย่างไร?
การนับวันไข่ตกเหมาะกับคนที่ประจำเดือนมาตรงตามปกติ โดยทั่วไปคือประมาณ 28 วันจะมีประจำเดือนมาอีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะนับได้ว่ากลางรอบเดือน คือ ระยะตรงกลางระหว่างประจำเดือนวันแรกของรอบที่แล้วกับประจำเดือนวันแรกของรอบถัดไป คือประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือนนับจากประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ไข่น่าจะตก แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นวันนั้นแน่เสมอไป อาจเป็นวันก่อนหน้าหรือวันอื่นถัดๆ ไป แต่ก็จะอยู่ในช่วงกลางระหว่างรอบเดือนสองรอบนั้น แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์วันเว้นวันช่วงระหว่างที่คาดว่าจะมีการตกไข่

Q : การรักษาภาวะมีลูกยากมีวิธีการอะไรบ้าง?
วิธีการเบื้องต้นอาจจะเป็นการนับวันไข่ตก การตรวจฮอร์โมนไข่ตก แล้วมีเพศสัมพันธ์กันเองตามธรรมชาติ บางครั้งอาจใช้ร่วมกับวิธีการทานยากระตุ้นไข่ การฉีดยากระตุ้นไข่ เพื่อให้ไข่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยีการคัดเชื้อแล้วทำการฉีดเชื้อหรือเรียกอีกอย่างว่าการผสมเทียม คือการเอาเชื้อฝ่ายชายฉีดเข้าโพรงมดลูกฝ่ายหญิงในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็เป็นอีกวิธีการใช้เทคโนโลยีในเบื้องต้นอันหนึ่ง ซึ่งบางคนอาจต้องทำหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ

ส่วนการทำกิ๊ฟ คือการนำเอาไข่กับเชื้อผสมกันในท่อนำไข่ในช่องท้อง โดยต้องใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ปัจจุบันอาจมีการทำน้อยลง เนื่องจากขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ที่ทำการรักษาเรื่องมีบุตรยากมักจะหันมาใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้ว รวมทั้งวิธีทำ ICSI ในการทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์มากที่สุด การเลือกใช้วิธีไหน ขึ้นกับข้อบ่งชี้หรือภาวะที่ผู้ป่วยมีมากประกอบในการตัดสินใจในการรักษาต่อไป

Q : หากต้องการได้บุตรที่แข็งแรง ปราศจากโรคที่เกิดจากโครมโมโซมที่ผิดปกติ สามารถทำได้หรือไม่ แล้ววิธีที่เหมาะสมคือวิธีใด?
ปัจจุบัน มีกระบวนการวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว หรือ PGD (Preimplantation genetic diagnosis) ซึ่งเราสามารถตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ทำให้มั่นใจได้ว่าทารกจะมีโครโมโซมที่ปกติ โดยเทคนิคใหม่ที่แนะนำคือ เทคนิค CGH (Comparative Genomic Hybridization) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยสามารถตรวจโครโมโซมได้ทั้ง 24 คู่ อีกทั้งยังมีความถูกต้อง และได้ผลสำเร็จที่ดีกว่าเทคนิคแบบเก่า (FISH: Fluoresence In Situ Hybridization)

Q : หญิงอายุมากมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์บุตรที่ผิดปกติอย่างไรบ้าง แล้วมีวิธีการป้องกันหรือไม่?
เนื่องจากหญิงที่อายุมากมีจำนวนฟองไข่ลดลง คุณภาพของไข่ลดลง มีการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติมากขึ้น จึงมีปัญหามีบุตรยาก มีภาวะแท้งสูงขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมสูงขึ้น ได้แก่
- ความผิดปกติของโครโมโซมชนิดโครงสร้าง เช่น Translocation, inversion
- ความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome)

เนื่องจากความผิดปกตินี้พบได้ในทารก การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation genetic diagnosis: PGD) จึงมีประโยชน์ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีพันธุกรรมปกติ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และลดอัตราการแท้งบุตรได้อีกด้วย

Q : หากลูกคนแรกมีภาวะผิดปกติ และต้องการมีลูกคนที่สองอีก มีโอกาสหรือไม่ที่ลูกจะเกิดมาเป็นปกติได้ และหากฝ่ายหญิงอายุ 40 ปีแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?
แนะนำให้รีบมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และการวินิจฉัยพันธุกรรมของตัวอ่อน เพื่อประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

Q : เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อคโกแลตซีสท์ คืออะไร ทำให้มีลูกยากหรือไม่?
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือ การที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูกในช่องท้อง อาจสะสมตามรังไข่และปีกมดลูก ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดเป็นช็อคโกแลตซีสท์ได้ ความสำคัญก็คือ การมีภาวะนี้จะทำให้โอกาสในการมีบุตรยากเพิ่มขึ้น เพราะภาวะนี้อาจทำให้มีผังผืดเพิ่มขึ้นที่ปีกมดลูก หรือสารบางตัวจากภาวะนี้ไปทำลายไข่ หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนได้ ผู้ที่มีภาวะนี ถ้าเป็นมากก็ควรทำการรักษาก่อนที่จะทำการรักษาให้มีบุตร อาจใช้ยาหรือการผ่าตัดแล้วแต่กรณี บางคนผ่าตัดไปแล้วก็สามารถมีลูกได้เองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการมีบุตรเพิ่มเติม

Q : การคัดเพศบุตรมีวิธีอย่างไร?
การคัดเพศบุตรที่ได้ผลมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือการคัดเชื้ออสุจิแล้วทำการฉีดเชื้อผสมเทียม ซึ่งผลในการคัดไม่แน่นอนนักประมาณ 70% ส่วนอีกวิธีที่ได้ผล 100% คือต้องทำเด็กหลอดแก้วแล้วทำ PGD ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีนอกจากได้ผลแน่นอนแล้ว ก็ยังสามารถทำการคัดกรองความสมบูรณ์ของเด็กเบื้องต้นก่อนได้ด้วย เช่น คัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ เป็นต้น

Q : เมื่อไหร่ถึงต้องอุ้มบุญหรือการใช้เชื้อหรือไข่บริจาค?
ผู้ที่ต้องอุ้มบุญคือ ในกรณีที่มดลูกมีความผิดปกติหรือมีเนื้องอก หรือบางรายเยื่อบุโพรงมดลูกมีปัญหา ก็ต้องไปใช้มดลูกคนอื่นที่ปกติแทน ส่วนผู้ที่ต้องใช้เชื้อบริจาคก็คือ ผู้ชายทีเป็นหมันหรือไม่มีเชื้อหรือเชื้อน้อยมาก ซึ่งกรณีนี้อาจจะลองเจาะอัณฑะหรือท่อนำเชื้ออสุจิดูก่อนก็ได้ ถ้าพอมีเชื้อก็อาจทำ ICSI ได้ ส่วนกรณีที่ใช้ไข่บริจาคก็คือ ผู้ที่มีจำนวนไข่น้อยหลังจากกระตุ้นไข่แล้ว หรือได้ไข่ที่ไม่มีคุณภาพ ก็ต้องไปหาไข่ของผู้อื่น โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้เป็นญาติของผู้ที่ต้องการไข่เองมากกว่า เนื่องจากจะได้มีส่วนทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน



นพ.องอาจ บวรสกุลวงศ์
แพทย์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร โรงพยาบาลนครธน https://www.nakornthon.com/article/detail/สารพันปัญหาการมีบุตรยากที่พบบ่อย
ดูกระทู้ทั้งหมดในชุมชน จาก  Downtown ดูกระทู้ในหมวด ดูกระทู้ในหมวดย่อย
กระทู้แนะนำจากการคัดเลือกอัตโนมัติ
1
2
3