เมื่อลูกน้อยลืมตามาดูโลกย่อมนำมาซึ่งความยินดีในครอบครัว และเมื่อลูกน้อยค่อยๆ โตขึ้นคุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับอันตรายหรือโรคร้ายแรงต่างๆ ยิ่งหากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับ
โรคสมองในเด็กที่พบได้บ่อย เช่น “โรคลมชัก” ที่ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กล่าช้า กระทบทั้งด้านการเข้าสังคม และการเรียน ดังนั้นคุณพ่อแม่ควรต้องทำความเข้าใจ “โรคลมชัก” หนึ่งอันตรายของโรคสมองในเด็ก เพื่อพร้อมรับมือได้ทันท่วงที
วันนี้โรงพยาบาลนนทเวช มีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา
โรคลมชักในเด็ก หนึ่งในอันตรายของโรคสมอง โดย ผศ.พญ.อัจฉราพร เมฆศิขริน กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนเวช มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน
โรคลมชัก หนึ่งอันตราย
โรคสมองในเด็ก ที่พบบ่อย เป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง ดังนั้น แม้ไม่พบความผิดปกติทางกายภาพของสมองแต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคลมชักได้ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพเหมือนเรามองเห็นหน้าคนคนหนึ่ง และพบว่าคนคนนั้นมีลูกตา 2 ข้างปกติ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานของสายตาของคนคนนี้เป็นอย่างไร สายตาสั้น ยาว หรือเอียงหรือไม่ เช่นเดียวกันกับสมอง ดังนั้น การไม่พบความผิดปกติของสมองจากภาพถ่ายรังสี ไม่ได้เป็นตัวบ่งถึงการทำงานผิดปกติของสมองได้ทั้งหมด
สาเหตุของโรคลมชักในเด็ก
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าโรคลมชัก คือ การทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยอาจพบหรือไม่พบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีก็ได้ ซึ่งสามารถแจกแจงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักได้ ดังนี้
1.ความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างสมองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital anomaly)
2.ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมอง (genetic disease)
3.ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด เช่น การติดเชื้อในครรภ์ การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด เป็นต้น
4.เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเอง (autoimmune disease)
5.การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็วในสมองในบางกลุ่มอาการของโรคบางโรค
6.การติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการติดเชื้อ
7.ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
อาการของโรคลมชักในเด็ก แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.
อาการชักแบบเฉพาะที่ ลักษณะอาการชักจะขึ้นอยู่กับจุดกำเนิดชักว่าอยู่ส่วนใดของสมอง เช่น ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อาการชักมักจะมาด้วยอาการเกร็ง หรือกระตุก หรืออ่อนแรง หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งการควบคุมความรู้สึก อาจมาด้วยอาการชา หรืออาการรับรู้มากกว่าปกติ เช่น ปวดเจ็บ หรือรู้สึกมีอะไรมาไต่ หากจุดกำเนิดอยู่ที่ตำแหน่งควบคุมการมองเห็น ก็อาจมาด้วยอาการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นแสง หรือมองไม่เห็น เป็นต้น
2.
อาการชักแบบทั้งตัว เช่น เกร็ง กระตุกทั้งตัว หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่าลมบ้าหมู หรืออาการชักแบบเหม่อ เรียกไม่รู้ตัว เป็นต้น
อันตรายจากการชัก
โดยทั่วไปของโรคลมชัก หากปล่อยให้ชักและไม่รักษา ส่วนใหญ่จะมีผลต่อพัฒนาการของผู้ป่วยในระยะยาว หรือถ้าลักษณะชักเป็นแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว จะส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนได้ ทำให้การควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายล้มเหลว เช่น การทำงานของระบบทางเดินหายใจและหัวใจ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคลมชัก
ปกติการวินิจฉัยโรคลมชักจะวินิจฉัยโดยอาการ คือ หากมีการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความผิดปกติของเกลือแร่ เป็นต้น อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก หรือหากมีอาการชักโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น เพียง 1 ครั้ง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ชักซ้ำสูง ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักเช่นกัน
วิธีการรักษาโรคลมชัก ปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคลมชักหลายวิธี แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 หลักใหญ่ คือ
1.การรักษาโดยการใช้ยากันชัก แพทย์จะเลือกการให้ยากันชักเป็นแนวทางแรกของการรักษา ปัจจุบันมียากันชักหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชักก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
2.การรักษาโดยวิธีอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ยากันชัก เช่น การผ่าตัดสมอง การใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 10 หรือการให้อาหารแบบคีโตน เป็นต้น
แนวทางการรับมือ และการป้องกัน “โรคลมชัก” อันตรายของโรคสมองในเด็ก
หากเด็กมีอาการที่ไม่แน่ใจว่าชัก หรือผู้ปกครองคิดว่าชัก ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้ปกครองสามารถถ่าย VDO อาการที่ไม่แน่ใจว่าชัก หรืออาการชักมาให้แพทย์ดู เพื่อประกอบการรักษาเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาได้
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเด็กมีอาการชัก โดยเฉพาะอาการชักเกร็งกระตุกไม่รู้สึกตัว
1.พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องตั้งสติ
2.พยายามจัดสถานที่ให้เด็กอยู่ในที่ปลอดภัย
3.คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่ให้หลวมผ่อนคลาย อย่ายืนมุง
4.ให้เด็กนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลัก
5.ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้
ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กหลีกเลี่ยง ปัจจัยที่กระตุ้นทำให้ชักมากขึ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีไข้ การขาดอาหาร ความเครียด เป็นต้น
นอกจากนี้ควรดูแลให้เด็กหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ หากมีอาการชักในระหว่างที่ทำกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง ปั่นจักรยาน เป็นต้น
หากได้รับการวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทวิทยาและโรคสมองในเด็ก ว่าเป็น “โรคลมชัก” ควรให้เด็กทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง และทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือหากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันดูแลและรักษาโรคเฉพาะทางในเด็ก เช่น “โรคสมองในเด็ก” โดยกุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา, “โรคหัวใจเด็ก” โดยกุมารแพทย์โรคหัวใจ, “โรคมะเร็งในเด็ก” โดยกุมารแพทย์โรคโลหิตและมะเร็ง พร้อมพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบบการณ์ ภายใต้มาตรฐาน JCI ที่ทั่วโลกยอมรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่โรงพยาบาลนนทเวช
ผศ.พญ.อัจฉราพร เมฆศิขริน
กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนเวช
https://www.nonthavej.co.th/Epilepsy.php